‘ถอนฟัน’ มีโอกาส ‘เสียชีวิต’ ได้จริงหรือ ปัจจัยใกล้ตัวที่ห้ามมองข้าม
คนไทยส่วนใหญ่มักละเลยปัญหาปวดฟัน ฟันผุ เมื่อมีอาการแล้วไม่ไปหาหมอทันที เนื่องจากการพบทันตแพทย์มักมีค่าใช้จ่ายสูง เบิกสิทธิทำฟันกับประกันสังคม บัตรทองได้น้อย แต่รู้หรือไม่ว่า โรคที่เกี่ยวข้องกับช่องปากก็มีอันตรายไม่น้อยกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
หากเราปล่อยให้อาการเจ็บป่วยในปากลุกลามก็มีโอกาสติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
อัตราการเสียชีวิตจากการถอนฟัน
American Association of Oral and Maxillofacial Surgeons (AAOMS) หรือ สมาคมศัลยแพทย์ช่องปากและใบหน้าขากรรไกรแห่งอเมริกา เปิดเผยว่าความเสี่ยงที่เสียชีวิตสืบเนื่องจากการถอนฟันอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 100,000 ราย หรือ 0.001% เท่านั้น
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเพราะถอนฟันโดยตรง แต่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนหลังจากนั้น เช่น ผู้ป่วยมีภาวะโรคเลือดออกไม่หยุด ติดเชื้อในช่องปากหรือกระดูกขากรรไกร อาการแพ้ยาหรือวัสดุที่ใช้ในการผ่าตัด (อันนี้พบไม่บ่อย เนื่องจากห้องของทันตแพทย์ที่ได้มาตรฐานจะสะอาดปลอดเชื้อ)
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรต้องแจ้งหมอฟันเพื่อประเมินอาการก่อนรักษา เนื่องจากบางโรคหากกำเริบขึ้นมาก็อันตรายถึงชีวิตได้
ส่วนอีกกรณีอาจเกิดได้คือ ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาแก้ปวด เช่น การใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์มากเกินไป อาจทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก อาจทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวหรือหัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งผู้ป่วยโรคประจำตัวที่มีภาวะหัวใจหรือปอดอยู่แล้ว มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มากขึ้น
ปัจจัยอะไรอีกบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังการถอนฟัน
- ผู้สูงอายุ
- มีโรคประจำตัว
- ถอนฟันหลายซี่ในคราวเดียวกันหรือถอนฟันที่ซับซ้อน
ลดความเสี่ยงเสียชีวิตระหว่างการถอนฟัน
เพื่อลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการถอนฟัน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามดังนี้
- เปิดเผยประวัติทางการแพทย์และแพ้ยาต่อทันตแพทย์: สิ่งนี้จะช่วยให้ทันตแพทย์พิจารณาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
- ปฏิบัติตามคําแนะนําการดูแลหลังการผ่าตัด: หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มน้ำตากหลอด และการรับประทานอาหารที่แข็งหรือกรุบกรอบ สิ่งสําคัญคือต้องรักษาช่องปากให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
การถอนฟันเป็นการผ่าตัดเล็ก ๆ ที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยหากทำโดยทันตแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการถอนฟัน โดยแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบถึงโรคประจำตัวและยาที่รับประทานอยู่ ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด และสังเกตอาการผิดปกติหลังการถอนฟันอย่างใกล้ชิด
หากมีอาการผิดปกติหลังการถอนฟัน เช่น เลือดออกไม่หยุด ปวดมาก บวม แดง หรือมีไข้ ควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที
เมื่อไหร่ที่คนไข้ต้องถอนฟัน
การถอนฟันเป็นการรักษาทางที่ทันตแพทย์อาจพิจารณาทำในกรณีที่ฟันไม่สามารถรักษาให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งมีปัจจัยดังนี้
1. ฟันผุรุนแรง หากฟันผุรุนแรงจนทำให้เนื้อฟันเหลือน้อยเกินไป ไม่สามารถบูรณะให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติได้ หรือฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันจนทำให้มีอาการปวดอย่างรุนแรง
2. โรคเหงือกรุนแรง : หากโรคเหงือกรุนแรงหรือ ปริทันต์ จนทำให้กระดูกรองรับฟันละลาย และฟันโยกจนไม่สามารถยึดติดกับกระดูกได้อย่างมั่นคง
3. อุบัติเหตุ : หากฟันหักหรือแตกจนไม่สามารถบูรณะให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติได้ ต้องใช้ฟันปลอยแทน
4. ฟันคุด : ฟันคุดเป็นฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ มักอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ฟันเรียงตัวผิดปกติ ฟันข้างเคียงผุ เหงือกอักเสบ ฯลฯ ทันตแพทย์อาจพิจารณาถอนฟันคุดเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้
5. ฟันเกิน : ฟันที่ขึ้นเกินจำนวนปกติ มักอยู่บริเวณด้านหน้าหรือด้านหลังของปาก อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในการใช้ชีวิต เช่น การพูดออกเสียง เคี้ยวอาหาร ความเจ็บปวด
6. ติดเชื้อจนไม่สามารถรักษารากฟันได้
หากผู้ป่วยมีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง ฟันผุรุนแรง ฟันหักหรือแตก ฟันคุด ฟันเกิน หรือมีโรคเหงือก ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สสจ.เพชรบุรี แจงแล้ว เหตุทำสาว 25 ดับสลด ปมถอนฟันกรามเป็นแค่อาการน
- วิธีแปรงฟันแห้ง ป้องกันฟันผุ เพิ่มฟลูออไรด์ เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดียิ่งขึ้น
- ‘หญิงลี ศรีจุมพล’ เคลื่อนไหวล่าสุด อัปเดตอาการถอนฟันคุด