ข่าวต่างประเทศ

เคสแรกของโลก กลั้นจามจนหลอดลมฉีก อันตรายของการกลั้นจาม

หยุดพฤติกรรมเหล่านี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยไม่ควรกลั้นจาม หลังพบผู้ป่วยเคสแรกของโลก พยายามกลั้นจามโดยการบีบจมูกและปิดปาก สุดท้ายหลอดลมฉีก

วันนี้ (วันที่ 12 ธันวาคม 2566) รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี หรือหมอหมู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โพสต์ข้อความเตือนภัยเงียบปัญหาสุขภาพ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี เกี่ยวกับพฤติกรรม ‘กลั้นจามจนหลอดลมฉีก’ ของผู้ป่วยรายแรกของโลก อ้างอิงจากเว็บไซต์ casereports ซึ่งได้ระบุข้อความไว้ดังนี้

Advertisements

“เหตุการณ์ประหลาดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ชายหนึ่งกำลังขับรถและทันใดนั้นเขาก็รู้สึกอยากจาม แต่แทนที่จะปล่อยให้เป็นการจามแบบปกติ แต่เขากลับกลั้นจามด้วยการบีบจมูกและปิดปาก

การกลั้นจาม ด้วยการบีบจมูกและปิดปาก จะทำให้ความดันในทางเดินหายใจส่วนบนสูงขึ้นกว่า 20 เท่าของความดันที่ปกติจะเกิดขึ้นระหว่างการจาม ในกรณีของชายคนนี้ความกดดันสูงมากจนทำให้หลอดลมของเขาฉีกขาด

ชายคนดังกล่าวได้เดินทางไปยังห้องฉุกเฉิน เขารู้สึกเจ็บบริเวณลำคออย่างรุนแรง คอของเขาบวมทั้งสองข้าง อย่างไรก็ตาม เขาไม่มีปัญหาใด ๆ ในการหายใจ การกลืน หรือการพูด

จากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) พบหลอดลมฉีกขาด ขนาด 2 x 2 มิลลิเมตร แพทย์สรุปว่าการฉีกขาดมีสาเหตุมาจาก “แรงดันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลอดลมขณะจามโดยบีบจมูกและปิดปาก” แพทย์วินิจฉัยว่าชายคนนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

เคสแรกของโลก กลั้นจามจนหลอดลมฉีก อันตรายของการกลั้นจาม
ภาพจาก : casereports

อย่างไรก็ตาม เขาถูกเฝ้าติดตามที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าระดับออกซิเจนและสัญญาณชีพอื่น ๆ ของเขาคงที่ จากนั้นเขาก็ออกจากโรงพยาบาล พร้อมรับยาแก้ปวดและยาแก้ไข้ อีกทั้งแพทย์ของเขายังบอกเขาด้วยว่า อย่าออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมากเป็นเวลา 2 สัปดาห์

Advertisements

หลังผ่านไป 5 สัปดาห์ ผล CT scan เผยให้เห็นว่าบาดแผลหายดีแล้ว หลอดลมฉีกขาดหากมีขนาดใหญ่อาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตาม เกือบทั้งหมดเกิดจากจากการบาดเจ็บที่มาจากแรงกระทำจากภายนอก”

ทั้งนี้ นายแพทย์ได้ทิ้งท้ายคำแนะนำไว้ด้วยว่า ไม่ควรกลั้นจามด้วยการบีบจมูกขณะปิดปาก เพราะอาจส่งผลให้เกิดหลอดลมทะลุได้

ทำไมถึงไม่ควร ‘กลั้นจาม’ สาเหตุปัญหาสุขภาพที่ไม่อาจมองข้าม

เชื่อว่าหลายคน ๆ อาจจะเคยกลั้นจาม เหตุเพราะอยู่ในที่สาธารณะหรือกังวลว่าการจามอาจไปรบกวนผู้อื่น ซึ่งก็นับเป็นโชคดีที่การกลั้นจามของเรานั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่รู้หรือไม่ว่าการกลั้นจามเป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายอย่างไม่ควรมองข้าม ซึ่งการกลั้นจามโดยการบีบจมูก พร้อมกับเม้มปากแน่น ๆ นั้นส่งผลอันตรายต่อร่างกายมากมาย ดังนี้

เคสแรกของโลก กลั้นจามจนหลอดลมฉีก อันตรายของการกลั้นจาม

1. แก้วหูแตก

ระหว่างก่อนการจาม ระบบทางเดินหายใจของคุณจะเกิดแรงดันสูง จากนั้นอากาศก็จะเข้าไปในหูและไหลลงสู่ท่อในหูแต่ละข้าง ซึ่งจะเชื่อมต่อกับหูชั้นกลางและแก้วหู ดังนั้นการกลั้นจามจึงอาจทำให้ความดันที่ควรจะไหลลงท่อหูส่งผลให้แก้วหูแตกได้ และอาจอันตรายถึงการสูญเสียการได้ยิน

2. หลอดเลือดฝอยเสียหาย

เมื่อกลั้นจามแรงดันในร่างกายก็มีแนวดน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะรุนแรงถึงขนาดที่ทำให้หลอดเลือดฝอยในโพรงจมูกถูกบีบอัดและระเบิด อันเป็นสาเหตุของอาการตาแดงและจมูกแดง

3. หูชั้นกลางอักเสบ

ด้วยเหตุที่การจามคือการปล่อยลมออกจากร่างกาย เช่นนั้นแล้วการกลั้นจามจึงเสมือนการเปลี่ยนทิศทางของลม ซึ่งลมที่ควรจะออกมาทางจมูกจะถุกดันเข้าไปในช่องหูชั้นกลาง และเชื้อโรคที่มาพร้อมกับการจามก็จะติดอยู่ในชั้นหู อันเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ

4. กะบังลมฉีกขาด

การกลั้นจามอาจเป็นสาเหตุให้กะบังลมเป็นแผลฉีกขาดได้จากการเกิดแรงดันสูงในร่างกาย ซึ่งอาการเจ็บป่วยดังกล่าวอันตรายถึงชีวิต

5. เส้นเลือดในสมองโป่งพอง

ผลกระทบที่ร้ายแรงอย่างยิ่งของการกลั้นจามนั่นก็คือ “เส้นเลือดในสมองโป่งพอง” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “เส้นเลือดในสมองแตก” ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเลือดออกในกะโหลกศีรษะรอบสมอง ที่ส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิต

ฉะนั้นแล้ว ผู้อ่านทุกท่านจึงไม่ควร “กลั้นจาม” ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะการกระทำเพียงชั่ววินาทีอาจส่งผลอันตรายต่อร่างกายและชีวิต

ข้อมูลจาก healthline

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button