ไลฟ์สไตล์

14 ตุลาคม 2516 ครบรอบ 49 ปี สรุปเหตุการณ์ ที่มายุคประชาธิปไตยเบ่งบาน

เปิดบันทึก เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ครบรอบ 49 ปี วันประชาธิปไตยไทย หรือ วันมหาวิปโยค จากการนองเลือดสู่หนทางแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศ

14 ตุลาคม 2565 ครบรอบ 49 ปี “วันประชาธิปไตยไทย” หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันดีในชื่อ “วันมหาวิปโยค” โดยเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คือ เหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองประชาธิปไตยที่เกิดขึ้ในปี พ.ศ. 2516 ขบวนการนักศึกษาเดินประท้วงรัฐบาลจอมพอลถนอม และทำสำเร็จ นับเป็นดอกไม้ประชาธิปไตยที่เบ่งบานดอกแรกของหน้าการเมืองไทย นับตั้งแต่ปฏิวัติการปกครอง 2475

เหตุกาณ์ 14 ตุลา เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยที่ถูกพูดถึงในฐานะชัยชนะของฝั่งประชาธิปไตย ก่อนที่เพียง 3 ปีให้หลัง จะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 อันเป็นการสังหารหมู่ฝ่ายซ้ายนับร้อย เป็นความพ่ายแพ้ย่อยยับให้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร

กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นชนวนเหตุเริ่มต้นในการดิ้นรนหาหนทางสู่ระบอบประชาธิปไตยของชาวไทย ที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารมานานกว่า 15 ปี

วันนี้เดอะไทยเกอร์จะพาทุกคนย้อนไทมไลน์ประวัติศาสตร์อีกครั้ง เพื่อตอกย้ำหมุดหมายสำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองของนักศึกษา-ประชาชน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย และเป็นที่มาของยุคประชาธิปไตยไทยเบ่งบาน

14 ตุลาคม 2516
ภาพจาก : 14tula.com

ย้อนวันวาน เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เกิดขึ้นได้อย่างไร

นับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลของจอมพล ป. ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยหลังจากจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารก็ได้แต่งตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่หลังจากนั้นไม่นานจอมพลถนอมก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แล้วร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ก่อรัฐประหารรัฐบาลตัวเองอีกครั้ง โดยครั้งนี้จอมพลสฤษดิ์ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และใช้อำนาจควบคุมสถานการณ์ในประเทศแบบเบ็ดเสร็จ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ภาพจาก : 14tula.com

การครองอำนาจของเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร

แม้ว่าในปี พ.ศ. 2506 จอมพลสฤษดิ์จะถึงแก่อสัญกรรม แต่ยุคเผด็จการยังคงอยู่เมื่อจอมพลถนอมเข้ามารับบทบาทนายกรัฐมนตรีเสียเอง โดยมีจอมพลประภาส จารุเสถียร เข้าคุมตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” หรือ “ศนท.” ที่ต่อมาในภายหลังกลายเป็นกลุ่มสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองไทย (และยังมีบทบาทในเหตุการณ์สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อีกด้วย)

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2514 ทางจอมพลถนอมก็ทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเองอีกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมเสียงสภาผู้แทนฯ ไว้ได้ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ คนไทยตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิวัติ

14 ตุลา
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

ชนวนสำคัญนำไปสู่การลุกฮือของนักศึกษา-ประชาชน

ด้วยปัญหาทางการเมือง และปัญหาทางเศรษฐกิจที่คณะปฏิวัติของจอมพลถนอมไม่สามารถแก้ได้ รวมไปถึงเหตุการณ์เครื่องบินตกที่ทำให้พบซากสัตว์ป่าสงวน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่บุคคลใกล้ชิดรัฐบาลมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพย์สินราชการในทางมิชอบ

ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ศนท. และมีการตีพิมพ์หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ที่มีเนื้อหาเปิดโปงข้อเท็จจริงต่อการฉ้อฉลของเหล่าผู้นำเผด็จการ หลังจากนั้นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน ก็ได้ออกหนังสือ “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ” มีเนื้อหาเสียดสีเผด็จการทหาร

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักศึกษาทั้ง 9 คนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกลบชื่อออกจากสถานะนักศึกษา เหตุนี้เองเป็นชนวนให้นักศึกษาจากหลายสถาบัน รวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องให้คืนสภาพแก่นักศึกษาทั้ง 9 คน จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

วันมหาวิปโยค 14 ตุลา
ภาพจาก : 14tula.com

การเรียกร้องปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์และการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ในช่วงวันที่ 6 ตุลาคม 2516 มีการรวบรวมรายชื่อเรียกร้องการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจำนวน 100 รายชื่อ และมีการเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ และจากเหตุการณ์เดินแจกใบปลิวในครั้งนี้ก็นำไปสู่การจับกุม “13 ขบถรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นการจับกุมที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้มีการเยี่ยมและประกันตัวใด ๆ

สำหรับการจับกุม 13 ขบถรัฐธรรมนูญ สร้างความไม่พอใจให้กับนิสิตนักศึกษาจำนวนมาก ด้านองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. ร่วมกับ ศนท. จัดการชุมนุมกันที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ว่าจะเป็นช่วงสอบก็ตาม

ทั้งนี้ก็ได้มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัว 13 ขบถรัฐธรรมนูญ ก่อนวันที่ 13 ตุลาคม 2516 แต่รัฐบาลปฏิเสธ โดยทางรัฐบาลให้เหตุผลว่าบุคคลทั้ง 13 คนนั้น เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทำให้ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 มีนักศึกษาและประชาชนร่วมออกมาเดินชุมนุมกันเป็นจำนวนหลายแสนคน

14 ตุลา วันมหาวิปโยค
ภาพจาก : 14tula.com

ความพยายามในการสลายการชุมนุมที่มีการสื่อสารเป็นอุปสรรค

มีการส่งตัวแทนจาก ศนท. เข้าเจรจากับจอมพลประภาส จนกระทั่งได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นตัวแทน ศนท. ก็ได้เดินทางเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ด้านตัวแทนจาก ศนท. เข้าพบจอมพลประภาสอีกครั้ง เพื่อทำหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร และในช่วงค่ำของวันเดียวกันนั้นเอง แม้จะมีการพยายามดำเนินการให้ผู้ชุมนุมสลายตัว แต่ด้วยจำนวนคนและอุปสรรคด้านการสื่อสาร บวกกับข่าวลือเกี่ยวกับการเตรียมการก่อความรุนแรงของทางผู้ชุมนุม ทำให้ความโกลาหลเริ่มก่อตัวขึ้น

ทั้งนี้ ฝ่ายกรมประชาสัมพันธ์ก็ได้ออกแถลงการณ์ยั่วยุว่ามีกลุ่มคนไม่ประสงค์ดีต่อรัฐบาลแฝงตัวอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม อีกทั้งยังกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกันนี้ก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปราบจลาจลเพื่อจัดการกลุ่มผู้ประท้วง ทำให้แกนนำกลุ่มผู้ประท้วงเคลื่อนขบวนออกจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังสวนจิตรลดา เพื่อหวังพึ่งพระบารมี

วันประชาธิปไตยไทย
ภาพจาก : 14tula.com

การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

กระทั่งในเช้าของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีการสลายการชุมนุมโดยการใช้ความรุนแรงจากทางเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ชุมนุมบางส่วนหนีเข้าไปในพระตำหนักสวนจิตรลดาเพื่อเอาตัวรอด เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมด้วยวิธีที่โหดร้าย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้กว่า 77 คน และบาดเจ็บอีก 857 คน

ในช่วงหัวค่ำ ทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเพื่อยุติการปะทะกันระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ และจอมพลถนอมประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามความโกลาหลทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เข้าสู่ความสงบ

ยังคงมีการปะทะกันอยู่ตลอดระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และด้วยการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงจากทางเจ้าหน้าที่รัฐนี้เอง ที่ทำให้การเมืองภายในของรัฐบาลแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยต่อการสลายการชุมนุมในครั้งนี้

14 ตุลาคม วันประชาธิปไตยไทย
ภาพจาก : 14tula.com

3 ทรราช เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ ชัยชนะครั้งใหญ่ของประชาชน

ความขัดแย้งภายในกองทัพนี้เอง นับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่กดดันให้จอมพลถนอมและพรรคพวกต้องลาออกจากตำแหน่ง และท้ายที่สุด 3 ทรราช ได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องหลบหนีความผิดเดินทางออกนอกประเทศ เหตุการณ์ชุมนุมในครั้งนี้จึงสงบลงได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศเข้าสู่ยุค “การทดลงประชาธิปไตย” นับว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาธิปไตยในประเทศไทย ได้กลับมาเบ่งบานอีกครั้ง เนื่องจากมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518

เหตุการณ์ 14 ตุลา
ภาพจาก : 14tula.com

จาก ‘วันมหาวิปโยค’ สู่ ‘วันประชาธิปไตยไทย’ ผลลัพธ์การต่อสู้ของวีรชน 14 ตุลาฯ

แม้ว่าสุดท้ายแล้วเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะนำพาไปสู่การสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ตาม แต่ก็นับว่าวันที่ 14 ตุลาฯ เป็นวันที่ประชาชนต่อสู้และได้รับชัยชนะทางการเมืองอย่างแท้จริง

ทำให้ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทางสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติเอกฉันท์ กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันประชาธิปไตย” เหตุนี้เองจึงทำให้วันที่ 14 ตุลาฯ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันประชาธิปไตยไทย”

14 ตุลาคม วันประชาธิปไตย
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

สนใจลงโฆษณา บทความ Backlink กับ Thaiger ติดต่อคุณโอ๋ orakarn@thethaiger.com

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button