ไลฟ์สไตล์

เปิดประวัติ “6 ตุลาคม 2519” ครบ 47 ปี เสียงปืนดัง สู่วันสังหารหมู่

ย้อนรำลึกเหตุโศกนาฏกรรม “6 ตุลา 2519” ครบรอบ 47 ปี การสังหารหมู่นักศึกษา-ประชาชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บาดแผลทางการเมืองครั้งใหญ่ของคนไทย

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์สำคัญ สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 บันทึกเรื่องเราวสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สร้างบาดแผลทางใจและเป็นบทเรียนเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน เป็นอีกหนึ่งอดีตที่มัวหมองจากการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศไทย

ปฏิทินเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ในวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 ครบ 47 ปี เหตุการณ์นองเลือดจากการที่รัฐบาลใช้กำลังต่อประชาชนคนไทย จะยังคงอยู่ในควาทรงจำและเป็นบทเรียนแก่ชนรุนหลังสืบไปตราบนานเท่านาน ดังนั้นทีมงาน เดอะ ไทยเกอร์ จะขอพาทุกคนไปเปิดบันทึกหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเหล่าวีรชนคนประชาธิปไตย และย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อม ๆ กัน

เปิดบันทึก ประวัติ “6 ตุลา 2519” สังหารหมู่ นศ.ธรรมศาสตร์

วันที่ “6 ตุลา 2519” คือ วันสำคัญที่มีเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์และนักศึกษา ประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยตายลงเรือนร้อน เปลี่ยนข้างสนามหลวงและสนามหญ้าธรรมศาสตร์ให้เป็นลานประหาร

เช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นที่รั้วธรรมศาสตร์ ก่อนการปิดล้อมพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและลูกเสือชาวบ้าน นักศึกษาที่ชุมนุมด้วยความสงบกลับถูกสังหารอย่างไร้ความปราณี เนื่องด้วยเหตุผล “ภัยต่อความมั่นคงของชาติ” และ “ล้มสถาบันกษัตริย์”

บันทึก 6 ตุลา
ภาพจาก : บันทึก 6 ตุลา

จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศ

ย้อนกลับไปในวันที่ 19 กันยายน 2519 เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับเข้าประเทศไทยด้วยการบวชเป็นสามเณ รพร้อมให้เหตุผลว่าต้องการละทิ้งทางโลกและต้องการเดินทางกลับมาเยี่ยมพ่อที่กำลังป่วยหนัก

ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นักศึกษาและผู้ประท้วงคนอื่น ๆ ออกมาเดินขบวนต่อต้านเผด็จการจอมพลถนอม เพราะไม่เชื่อว่าเผด็จคนนี้จะยอมละทิ้งทางโลกจริง ๆ อีกทั้งผู้ชุมนุมยังเชื่อว่าการกลับมาของจอมพลถนอมในครั้งนี้เป็นการใช้ศาสนาพุทธมาบังหน้า

อีกทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมยังเชื่อว่าการกลับมาของจอมพลถนอมเป็นแผนการของกลุ่มคนที่ต้องการทำรัฐประหาร เพราะในช่วงเวลาที่จอมพลถนอมเดินทางกลับมาเมืองไทยนั้นก็มีคนจากทางรัฐบาลไปต้อนรับถึงสนามบิน อีกทั้งยังอนุญาตให้บวดที่วัดบวรฯ อีกด้วย

ในระหว่างที่กลุ่มนักศึกษาและผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยกำลังร่วมชุมนุมกันอยู่ ก็เกิดการโหมกระพือข่าวสร้างความเกลียดชังให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุมโดยสื่อฝ่ายขวา อย่างสถานีวิทยุยานเกราะ ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสังหารกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อความผาสุกของคนทั้งประเทศ

ความโกลาหลเริ่มทวีคูณมากยิ่งขึ้น จนกระทั่ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องประกาศลาออกกลางสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับปัญหาทางการเมืองที่กำลังปะทุอยู่ในขณะนั้นได้ ส่วนด้านผู้ชุมนุมก็ยังคงเดินขบวนต่อต้านจอมพลถนอมกันต่อไป

รำลึก 6 ตุลา
ภาพจาก : บันทึก 6 ตุลา

พนักงานการไฟฟ้า 2 คน ถูกฆ่าแขวนคอ

ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน 2519 ก็เกิดเหตุการณ์ที่สุมไฟแห่งความแค้นเคืองให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้นไปอีก เมื่อพนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 ราย ที่เป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกฆ่าแขวนคอขณะออกไปติดโปสเตอร์ประท้วงจอมพลถนอม

แม้จะถูกตำรวจบิดเบือนรูปคดี แต่สุดท้ายแล้วก็มีคนนำหลักฐานการฆาตกรรมพนักงานการไฟฟ้าส่งให้กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. ในเช้าของวันที่ 25 กันยายน 2519

ในวันเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้านผู้ชุมนุมออกข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ขับไล่จอมพลถนอมออกจากประเทศโดยเร็ว และให้เร่งจับกุมคนร้ายฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้า

แม้จะมีการเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อฟังผลข้อเรียกร้องการขับไล่จอมพลถนอม แต่คำตอบที่ได้จากทางฝั่งรัฐบาลก็ยังคงไม่ชัดเจน จึงทำให้เหล่าผู้ชุมนุมเดินหน้าประท้วงกันต่อไป พร้อมทั้งมีการนัดชุมนุมประชาชนทั่วประเทศ ณ สนามหลวง ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ภาพจาก : บันทึก 6 ตุลา

ย้อนเหตุการณ์ “ละครหมิ่นฯ” โหมกระแสเกลียดชังจากฝ่ายขวา

วันที่ 4 ตุลาคม 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ออกมายอมรับกับสื่อว่ามีตำรวจพัวพันคดีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้า ในช่วงเที่ยงจึงมีการจัดชุมนุมขึ้นที่ลานโพธิ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีการแสดงละครเลียนแบบกรณีพนักงานการไฟฟ้าถูกฆ่าแขวนคอ

เนื่องด้วยนักศึกษาที่แสดงละครเสียดสีกรณีฆ่าแขวนคอ มีใบหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน

เหตุนี้เองจึงทำให้สื่อฝ่ายขวาอย่างดาวสยามและสถานีวิทยุยานเกราะ บิดเบือนประเด็นการชุมนุม โดยอ้างว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่จอมพลถนอมอีกต่อไป แต่มีขึ้นเพื่อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันกษัตริย์

ด้านชมรมวิทยุเสรีก็ได้ออกแถลงการณ์กล่าวโทษกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ต้องการจะทำลายชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังเรียกกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลจัดการกับ “ผู้ทรยศ” โดยเร็วที่สุด

ฝ่ายรัฐบาลก็ได้ออกแถลงการณ์สั่งให้กรมตำรวจสวบสวนต่อกรณีละครฆ่าแขวนคอที่เกิดขึ้นแล้ว โดยกล่าวว่าละครดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519
ภาพจาก : บันทึก 6 ตุลา

เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นที่รั้ว “ธรรมศาสตร์”

ในช่วงเวลา 01.40 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เสียงปืนนัดแรกดังขึ้นที่รั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกลุ่มคนประมาณร้อยกว่าคนพยายามจะปีนรั้วบุกเข้ามาในมหาวิทยาลัย แม้จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่ก็มีการยิงโต้ตอบเกิดขึ้น

ต่อมาในช่วงเวลาเช้ามืดราว 04.00 น. ตำรวจตระเวนชายแดนจากค่ายนเรศวร เดินทางมาจากหัวหิน เข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากฝั่งสนามหลวง ในเวลา 05.30 น. ฝ่ายตำรวจที่ตั้งกองกำลังล้อมอยู่ภายนอกมหาวิทยาลัยยิงระเบิด M79 เข้าไปภายในมหาวิทยาลัย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

หลังจากนั้นในช่วงเวลา 07.00 – 08.25 น. เสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่องไม่มีพัก เจ้าหน้าที่ตำรวจต่างระดมยิงมุ่งเป้าไปยังผู้ชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาที่กำลังชุมนุมอยู่ด้วยความสงบหนีเอาชีวิตรอดกันกระเจิดกระเจิง หลายคนที่พยายามวิ่งหนีออกมาด้านนอกมหาวิทยาลัยก็เจอกลุ่มชนฝ่ายขวารุมประชาทัณฑ์

เวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกยึดพื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สำเร็จ นักศึกษาและประชาชนกว่า 3,000 คน ถูกควบคุมตัวและส่งไปขังยังสถานีตำรวจหลายแห่ง โดยระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่นั้น มีการสั่งให้นักศึกษาทั้งหญิงและชายถอดเสื้อผ้าออก ฝ่ายนักศึกษาหญิงถูกลิดรอนสิทธิให้ถอดเสื้อผ้าเหลือแต่ชุดชั้นใน

เวลา 18.00 น. ในวันเดียวกัน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยใช้ชื่อคณะรัฐประหารในครั้งนี้ว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”

รัฐประหาร 2519
ภาพจาก : บันทึก 6 ตุลา

ตำนาน ‘ผีลิฟต์แดง’ ที่หลงเหลือจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

แม้จะมีตัวเลขจากทางการระบุว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 39 คน และบาดเจ็บ 145 คน แต่จากแหล่งข่าวระบุว่ามีนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้มากถึง 530 คน อีกทั้งยังมีทรัพย์สินเสียหายรวมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาทอีกด้วย

นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในครั้งนั้น สิ่งที่หลงเหลืออยู่จากความโหดร้ายของทางเจ้าหน้าที่รัฐ คือตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาเกี่ยวกับ “ผีลิฟต์แดง” ที่ตั้งอยู่ในตึกคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หลายคนเล่าว่าในช่วง 6 ตุลาฯ หลังจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกเจ้าหน้าที่บุกยึดได้สำเร็จ มีนักศึกษาบางคนหนีตายจากดงกระสุนปืน โดยพากันไปหลบซ่อนอยู่ในลิฟต์ของตึกคณะศิลปศาสตร์

แต่ปรากฏว่าไม่สามารถหนีพ้นน้ำมือของผู้สังหารได้ เมื่อเวลาประตูลิฟต์เปิดออก เจ้าหน้าที่รัฐก็สาดกระสุนเข้าใส่นักศึกษาที่อยู่ภายในลิฟต์ทันที ซึ่งหลังจากจบเหตุการณ์ในวันนั้น หลายคนเล่าว่าคราบเลือดที่ติดในลิฟต์ไม่สามารถล้างออกได้

ส่งผลให้ทางมหาวิทยาลัยต้องทาสีลิฟต์เป็นสีแดงเพื่อกลบสีเลือดจากเหตุการณ์ที่นักถูกยิงตายในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในปัจจุบันแม่ว่าจะมีการเปลี่ยนบานประตูลิฟต์ใหม่แล้ว และบานเก่าก็ถูกนำไปตั้งไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์

ในบางครั้งก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับความหลอนของการใช้งานลิฟต์ตัวดังกล่าวลอยมาเข้าหูอยู่บ่อย ๆ นักศึกษาบางคนเล่าว่าแม้จะขึ้นลิฟต์คนเดียว แต่บางครั้งลิฟต์ก็แจ้งเตือนน้ำหนักเกินเหมือนมีคนอยู่ในลิฟต์หลายคน

บางคนก็เล่าว่าเห็นเงาสะท้อนจากกระจกภายในลิฟต์เป็นกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง แม้ว่าจะขึ้นลิฟต์กันเพียงไม่กี่คนก็ตาม แต่ไม่ว่าเรื่องราวจะถูกเล่าขานในรูปแบบไหน สิ่งที่ไม่อาจหนีพ้นคือ “อดีต” ที่ยังคง “หลอกหลอน” คนยุคใหม่อยู่ร่ำไป และเนื่องในโอกาสครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 เดอะไทยเกอร์ก็ขอร่วมรำลึกถึงการสูญเสียเหล่าวีรชนชาวประชาธิปไตยที่ต้องจากไปในครั้งนั้นมา ณ ที่นี้ด้วย

อ้างอิง : บันทึก 6 ตุลา

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button