ไลฟ์สไตล์

รู้จัก “ยาม่วง” ยาฆ่าเชื้อสามัญประจำบ้าน สรรพคุณครอบจักรวาลไม่ใช่แค่ทาปาก

ยาม่วง ยาฆ่าเชื้อราที่หลายบ้านต้องมีติดไว้ นอกจากเอามาทาปาก ทาแผล ทาผิวหนังติดเชื้อราแล้ว รู้หรือไม่ว่ายาม่วงอเนกประสงค์ถึงขั้นใช้ย้อมผม รวมถึงแก้เคสโทรศัพท์เหลืองได้อีกด้วย

ยาม่วง หรือ เจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet) คือ ยาฆ่าเชื้อราหรือแบคทีเรียชนิดสีม่วงเข้ม ใช้ทาภายนอกเพื่อรักษาแผลหรือบริเวณที่ติดเชื้อ อาทิ ผิวหนังหรือในช่องปาก แต่เหตุผลที่ทำให้ยาม่วงถูกนำไปใช้ย้อมสีผมหรือเปลี่ยนสีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้เพราะยาม่วงเป็นสารสำหรับย้อมสีในการทดลองด้วยนั่นเอง

ในตอนแรกยาม่วงเป็นสารเริ่มต้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีและห้องทดลองที่เรียกกันว่า การย้อมแกรม (Gram’s method) เพื่อใช้แยกแยะประเภทของแบคทีเรีย ถ้าสีม่วงเปลี่ยนเป็นสีแดงเรียกว่าเป็นเชื้อแกรมลบ (gram negative) และติดสีน้ำเงินเรียกว่าชื้อแกรมบวก (gram positive)

ยาม่วงสรรพคุณ

สรรพคุณของยาม่วง

ปกติแล้วยาม่วงนิยมใช้รักษาอาการเจ็บปวดไม่รุนแรง อาทิ กลั้วปากเวลาเป็นแผลร้อนใน หรือใช้ทาบาง ๆ บนแผลติดเชื้อตามร่างกาย รวมถึงรักษาอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • รักษาโรคเชื้อราในช่องปาก (oral candidiasis)
  • รักษาโรคฝ้าขาวในช่องปาก (oral thrush)
  • รักษาโรคกลาก (ringworm)
  • รักษาน้ำกัดเท้า (athlete’s foot)
  • รักษาเชื้อราที่ขาหนีบ (jock itch)
  • รักษาแผลถลอกหรือแผลเล็ก ๆ เพื่อลดการติดเชื้อ
  • รักษาอาการปากเปื่อย ลิ้นแตก เป็นแผล

ยาม่วง ย้อมผม

นอกจากนี้ยาม่วงยังมีความสารพัดประโยชน์ในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะโทนสีม่วงสามารถใช้ย้อมสีสิ่งของต่าง ๆ ได้ รวมถึงใช้ทดลองหาสารต่าง ๆ ตามการเปลี่ยนสีดังที่กล่าวไปข้างต้นด้วย ดังนี้

  • ย้อมสีผม : เจนเชียนไวโอเลต (สีม่วง) เป็นโทนสีที่หักล้างความเหลืองได้ นิยมใช้ย้อมผมหลังกัดสี
  • แก้เคสโทรศัพท์เหลือง : ใช้ยาม่วงผสมน้ำเพื่อแช่เคสเหลืองให้กลับมาใสเหมือนใหม่
  • ใช้ทดสอบกรด : ถ้าเป็นกรดอนินทรีย์สีของยาม่วงจะกลายเป็นสีเขียว ถ้าเป็นกรดอินทรีย์จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วง
  • ใช้ทดสอบความแท้หรือปลอของน้ำส้มสายชู : ถ้าปลอมจะเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำเงินอ่อน
  • ใช้ทาผิวหนังหมาและแมวที่เป็นโรคเชื้อราตามผิวหนัง

ผลข้างเคียงการใช้ยาม่วง

แม้ว่ายาม่วงจะมีสรรพคุณสารพัดประโยชน์แต่ผู้ที่ใช้ยาม่วงควรทราบถึงผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • อาการระคายเคืองผิวหนังหรือเยื่อบุ
  • อาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน ลมพิษ
  • อาการปวดท้อง
  • อาการขับถ่ายเป็นสีม่วง
  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน

เจนเชี่ยนไวโอเลต

ข้อห้ามการใช้ยาม่วง

แต่สำหรับผู้ที่ห้ามใช้ยาม่วงเด็ดขาด คือ ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาม่วงหรือสารกันบูดในยาม่วง นอกจากนี้ผู้ที่แพ้อาหาร สี สารกันบูด ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

สรุปว่ายาม่วงเป็นยาสีย้อมชนิดหนึ่งที่สามารถใช้รักษาการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังหรือในช่องปากได้ อีกทั้งสีม่วงเป็นประโยชน์สำหรับการหักล้างสีเหลืองของสีผมหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาม่วงอาจมีผลข้างเคียงทางร่างกายได้ ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาหรือตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอดี

Peangaor

นักเขียนประจำ Thaiger จบการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มศว เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาชี้แจงแตกประเด็นในรูปแบบย่อยง่ายเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง รวมถึงเรื่อง Pop culture ซีรีส์ อาหาร และเทรนด์แฟชั่นที่กำลังอินเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ preme@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button