ข่าว

เปิดกฎชัดๆ “อุเทนถวาย” ถ้าอยากถูกยกเป็น ‘มรดกโลก’ ต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง

ชวนรู้จัก ประวัติ อุเทนถวาย ย่านพญาไทในกรุงเทพมหานคร หลังมีดราม่าต้องย้ายและคืนพื้นที่ให้จุฬา วิเคราะห์เข้าเกณฑ์เป็นมรดกโลกได้จริงหรือไม่?

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ถือเป็นสถานบันโรงเรียนช่างที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยในปัจจุบันอุเทนถวายกำลังเจอปัญหา ต้องย้ายสถาบันไปตั้งที่อื่น เหตุเพราะต้องส่งคืนพื้นที่ให้กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปสู่ความขัดแย้งและการประท้วงของนักศึกษา จนถึงขั้นล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้อุเทนถวายกลายเป็นมรดกโลก

ไทยเกอร์จึงถือโอกาสนี้ พาไปเปิดกฎเกณฑ์การคัดเลือกมรดกโลกว่าแท้จริงแล้วมหาวิทยาลัยช่างแห่งนี้เข้าข่ายจริงหรือ เพื่อนับถอยหลังรอบทสรุปความขัดแย้งระหว่าง จุฬาฯ-อุเทนถวาย

อุเทนถวาย มรดกโลก

ประวัติอุเทนถวาย ย้อนรอยความขัดแย้งกับจุฬาฯ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เดิมชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” ตั้งอยู่บนพื้นที่บริเวณ ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ซึ่งเป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อุเทนถวายแห่งนี้ ได้ถูกสถาปนาขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ซึ่งหากนับจนถึงปัจจุบันจะพบว่า อุเทนถวายมีอายุมาเกินกว่า 89 ปีแล้ว โดยสถาบันแห่งนี้มีคติพจน์คือ “ถ้าเรารักสมัครจิต ก็ต้องคิดสมัครมือ ถิ่นสีน้ำเงิน คือที่รวมรักสมัครคง” มาพร้อมกับสีประจำมหาวิทยาลัยอย่าง น้ำเงิน-ขาว

อุเทนถวายตั้งอยู่บนพื้นที่ของจุฬามานานถึง 9 ทศวรรษ โดยเป็นหนึ่งในโรงเรียนการช่างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไทย ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการขอเจรจาตกลงเรื่องการเรียกคืนพื้นที่จากอุเทนถวาย เพื่อนำมาใช้ในด้านการศึกษาของสถาบัน โดยจุฬาฯ เคยเสนอข้อเจรจานี้มาหลายครั้งตั้งแต่ช่วงปี 2518 เป็นต้นมา ทว่าไม่สำเร็จ จนกระทั่งในปี 2565 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่

ทำให้เกิดประเด็นดราม่า เนื่องจากศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมองว่า พื้นที่แห่งนี้ของอุเทนถวายเปรียบเสมือนบ้าน ที่ผลิตบุคลากรสำคัญของประเทศมาหลายทศวรรษ ทำให้เกิดการประท้วงเรียกร้อง จนนำไปสู่แนวคิดการยกอุเทนถวายให้เป็นมรดกโลก

ดราม่า คืนที่ดินอุเทนถวาย

อุเทนถวาย เข้าเกณฑ์มรดกโลกหรือไม่?

จากกรณีที่นักศึกษาและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคล(มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เรียกร้องให้อุเทนถวายกลายเป็นมรดก ทำให้หลายคนสงสัยว่าอุเทนถวายเข่าเกณฑ์เป็นมรดกโลกอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้หากอ้างอิงจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลมรดกโลก กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการระบุเกณฑ์มรดกโลกในปัจจุบันเอาไว้ ดังต่อไปนี้

  • ประการที่ 1 : ต้องเป็นตัวแทนในการแสดงผลงานสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
  • ประการที่ 2 : ต้องแสดงออกถึงความสำคัญของการเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี
  • ประการที่ 3 : ต้องเป็นเอกลักษณ์ที่หายาก หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
  • ประการที่ 4 : ต้องเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของสิ่งก่อสร้าง อันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์
  • ประการที่ 5 : ต้องเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามกาลเวลา
  • ประการที่ 6 : ต้องมีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

ดราม่า อุเทนถวายกับจุฬา

ทั้งนี้หากพิจารณาจากหลักเกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม 6 ข้อข้างต้น จะพบว่าอุเทนถวาย อาจเข้าข่ายเกณฑ์บางประการ ในฐานะสถาบันที่เป็นผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ ทั้งยังให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมนุษย์ และสามารถเป็นตัวแทนการพัฒนาทางวัฒนธรรมได้อีกด้วย

ทว่าในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ได้ดำเนินการยื่นเรื่องขอเป็นมรดกโลกไปถึงขั้นตอนใดแล้ว ซึ่งต้องรอติดตามข่าวการเจรจาขอคืนที่ดินระหว่างจุฬา-อุเทนถวายต่อไปเร็ว ๆ นี้.

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button