ทีมนักวิจัยไทย ค้นพบ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ อยู่ห่างโลก 69 ปีแสง
เจ๋ง! ทีมนักวิจัยไทย ค้นพบ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ อยู่ห่างโลก 69 ปีแสง เป็นดาวดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยทีมนักวิจัยชาวไทยทั้งหมด
เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความเปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยชาวไทยค้นพบ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ ซึ่งเป็นดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยทีมที่เป็นคนไทยทั้งหมด โดยระบุว่า “ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัย NARIT ร่วมทีมนักวิจัยไทย ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ที่โคจรรอบระบบดาวคู่ RR Cae ถือเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงที่สองที่ถูกค้นพบในระบบดังกล่าว และนับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยนักวิจัยชาวไทยทั้งหมด
ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจำนวนมากกว่า 5,000 ดวง
ส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวฤกษ์เพียงดวงเดียว มีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพียงประมาณ 20 ดวงเท่านั้นที่ถูกค้นพบว่าโคจรรอบระบบดาวคู่ โดยในการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบระบบดาวคู่ส่วนใหญ่ จะถูกค้นพบด้วยเทคนิค การเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ (Eclipse timing variation) ซึ่งเป็นการสังเกตการณ์การบังกันของดาวคู่อุปราคา ถ้าในระบบดาวคู่ดังกล่าวมีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์จะทำให้ตำแหน่งของดาวคู่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ช่วงเวลาที่เกิดการบังกันที่สังเกตการณ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปไม่สม่ำเสมอ
ระบบดาวคู่ RR Cae เป็นระบบดาวคู่ที่ประกอบด้วยดาวแคระขาว และดาวฤกษ์มวลน้อยสีแดง อยู่ห่างจากโลก 69 ปีแสง ก่อนหน้านี้ทีมนักดาราศาสตร์จีนค้นพบว่า ระบบดาวคู่ RR Cae มีการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ ซึ่งเกิดจากผลของแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์มวลประมาณ 4.2 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี ที่โคจรรอบระบบดาวคู่ด้วยคาบ 11.9 ปี
ในงานวิจัยนี้ทีมนักวิจัยไทยได้มีการสังเกตการณ์ระบบดาวคู่ RR Cae ด้วยกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติของ NARIT ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6 เมตร PROMPT-8 ณ หอดูดาว Cerro Tololo Inter-American ประเทศชิลี และกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติขนาด 0.7 เมตร ณ หอดูดาว Spring brook ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับฐานข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite) ระหว่างปี พ.ศ.2561-2563 ได้กราฟแสงขณะเกิดการบังกันของระบบดาวคู่ RR Cae ทั้งหมด 430 ครั้ง
จากข้อมูลกราฟแสงการบังกันดังกล่าว ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูล และสร้างแบบจำลองทางภายภาพของระบบดาวคู่ RR Cae ด้วย ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ‘ชาละวันคลัสเตอร์’ (Chalawan High Performance Computing Cluster) ของ NARIT พบว่าดาวฤกษ์มวลน้อยสีแดงในระบบดาวคู่ มีจุดมืดและจุดสว่างขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เคยค้นพบในงานวิจัยมาก่อนหน้านี้ และเมื่อนำข้อมูลการบังกันมาวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันของดาวคู่ RR Cae พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเวลาการบังกันที่เกิดจากผลของแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 2 ดวง โดยดาวเคราะห์ดวงแรกมีมวล 3.0 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี โคจรรอบดาวคู่ด้วยคาบประมาณ 15 ปี และดาวเคราะห์ดวงที่สองซึ่งเป็นดาวเคราะห์ใหม่ที่พึ่งถูกค้นพบ มีมวลประมาณ 2.7 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี และมีคาบการโคจรประมาณ 39 ปี
ดาวเคราะห์นอกระบบใหม่ที่ถูกค้นพบในงานวิจัยนี้ นับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยทีมนักวิจัยคนไทยทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์ไทย และกล้องโทรทรรศน์ NARIT ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ ซึ่งจะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกต่อไป”