BTS-MRT เกาะกระแสภาพยนตร์ ธี่หยด แนะผู้ใช้บริการงดโหนห่วง แตะบัตรให้ถูกที่
รถไฟฟ้า BTS และ MRT รวมอิงกระแสภาพยนตร์เรื่อง ธี่หยด รณรงค์ขอความร่วมมือผู้โดยสารไม่โหนเสาหรือห่วง แนะที่แตะบัตร EMV ทั้งบัตรเครดิตและบัตรโดยสาร
ช่วงปลายปี 2566 ถือเป็นช่วงเวลาที่กระแสภาพยนตร์สยองขวัญสัญชาติไทย กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเลยก็ว่าได้ โดยหนังผีไทยใหม่ล่าสุดที่เพิ่มเข้าโรงภาพยนตร์ไปหมาด ๆ อย่างเรื่อง ธี่หยด สามารถทุบสถิติทำเงินทั่วประเทศไปกว่า 39 ล้านบาทเลยทีเดียว
จากกระแสแรงของภาพยนตร์ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริง ล่าสุด วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ขอร่วมอิงกระแสไปกับภาพยนตร์สยองขวัญ เพื่อขอความร่วมมือผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า โดยโพสต์ข้อความรณรงค์เป็นภาษาไทยและภาษาจีน โดยข้อความภาษาไทยระบุว่า
“รถไฟฟ้าบีทีเอส ขอความร่วมมือผู้โดยสารไม่โหน ห่วง เสา ราว เล่นนะครับ ไม่ปีนป่าย โหน หรือเล่นโลดโผน ในขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส ห่วง เสา และราวจับมีไว้ให้จับเพื่อทรงตัวในขณะเดินทางครับ
เนื่องจากห่วง และเสา สามารถรับน้ำหนักได้จำกัด อาจทำให้อุปกรณ์เสียหาย หรือเกิดอุบัติเหตุได้ ผู้โดยสารสามารถจับห่วง เสา ราว ได้ตลอดเวลาขณะโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ร่วมสร้างสังคมดี มีน้ำใจในการเดินทาง แบ่งปันพื้นที่ให้กับเพื่อนร่วมทางด้วยนะครับ”
ด้านรถไฟฟ้าใต้ดินอย่าง MRT ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ไม่รอช้าที่จะเข้าร่วมกระแส เพื่อให้ข้อมูลผู้ใช้บริการ โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก BEM Bangkok Expressway and Metro ระบุว่า
“แตะบัตรแล้วแต่ทำไมประตูไม่เปิด ไม่ได้หลอนอย่างที่คิด วันนี้พี่ยักษ์ เอ้ย..พี่แอดมิน จะมาแนะนำ ที่~~~แตะ เช็กดูให้ชัวร์ก่อนว่าเราได้แตะบัตรถูกที่ไหม เพราะประตูเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติมีที่ให้แตะบัตร 2 จุดน้า หลายคนอาจสับสน แตะบัตรกัน ผิดๆ ถูกๆ
บริเวณที่แตะด้านบน สำหรับบัตรเครดิต และบัตรเดบิต (เฉพาะธนาคารกรุงไทย และธนาคาร UOB) บริเวณที่แตะด้านล่าง สำหรับบัตรโดยสาร MRT และเหรียญโดยสารรถไฟฟ้า MRT เพราะฉะนั้น ดู ที่~~~แตะ ก่อนแตะนะครับ จะได้ไม่เสียเวลาในการเดินทางครับ”
หลังจากโพสต์ของสองบริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้าของไทยถูกเผยแพร่ ชาวเน็ตต่างถูกใจการอิงกระแสภาพยนตร์ดัง ที่มาพร้อมคำแนะนำผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เนื่องจากลูกค้าบางส่วนไม่ทราบว่าควรแตะบัตร MRT ด้านบนหรือด้านล่าง อีกทั้งเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายขณะเดินทางอีกด้วย
อ้างอิง : Facebook BEM Bangkok Expressway and Metro / รถไฟฟ้าบีทีเอส