บันเทิง

ประวัติ ‘วงคาราบาว’ กำเนิดวงดนตรีเพื่อชีวิตในตำนาน โลดแล่นในวงการกว่า 40 ปี

ส่องประวัติคาราบาว วงดนตรีเพื่อชีวิตของไทย ตำนานที่ยังมีลมหายใจไม่มีใครโค่นล้มได้ จากวันก่อตั้งโดยนักเรียน 3 คน สู่วันประกาศยุบวงช็อกแฟนคลับ

ทำเอาแฟนเพลงเพื่อชีวิตหลายคนใจหายใจคว่ำไปตาม ๆ กัน หลังจากที่นักร้องเพลงเพื่อชีวิตดีกรีศิลปินแห่งชาติอย่าง “แอ็ด ยืนยง โอภากุล” ได้ออกมาประกาศกลางเวทีคอนเสิร์ตว่าจะยุบวง “คาราบาว” ภายในปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้

Advertisements

แน่นอนว่าคนไทยหลายคน ไม่ว่าจะเจนไหนหรือแม้แต่เจนอัลฟ่าบางคนก็ยังรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของวงคาราบาว เพราะอาจกล่าวได้ว่าคาราบาวเป็นวงดนตรีเพียงวงเดียวที่ทำให้เรารู้จักคำว่า “เพลงเพื่อชีวิต” แม้การประกาศปิดตำนานของวงในครั้งนี้จะทำให้แฟนคลับและคนไทยส่วนใหญ่ใจหายไม่น้อย แต่ถ้านับประสบการณ์กว่า 40 ปี ที่วงคาราบาวได้โลดแล่นและสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองมานั้น ก็นับว่าเป็นเวลาอันสมควรที่ศิลปินแต่ละท่านจะได้ไปพักผ่อนในช่วงบั้นปลายชีวิตกันแล้ว

แรกเริ่มก่อตั้งวงคาราบาวจากนักเรียน 3 คน

วงคาราบาวก่อจั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2523 โดยนักเรียนไทย 3 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ แอ๊ด ยืนยง โอภากุล, เขียว กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร และ ไข่ สานิตย์ ลิ่มศิลา

คำว่า คาราบาว มาจากภาษาตากาล็อกที่เป็นภาษาพื้นเมืองของประเทศฟิลิปปินส์ มีความหมายว่า ควาย หรือ คนใช้แรงงาน โดยความเชื่อของชาวฟิลิปปินส์นั้นมองว่าควายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นเกษตรกร จึงเป็นคอนเซปต์ของวงคาราบาวที่ทำแนวเพลงเพื่อชีวิต เพื่อคนชนชั้นล่าง

จากประสบการณ์ในการฟังเพลงของ แอ๊ด ยืนยง ไม่ว่าจะเป็นวง Led Zeppelin ศิลปิน John Denver วงดนตรี The Eagles และร็อกรุ่นเก๋าอย่าง Peter Frampton ล้วนแล้วแต่หล่อหลอมให้แอ๊ดมีความรู้และความหลงใหลในดนตรีเป็นอย่างมาก

แอ๊ด ยืนยง ชวนเพื่อน ๆ อีกสองคนมาร่วมก่อตั้งวงดนตรีคาราบาวเพื่อใช้ประกวดและแสดงบนเวทีของงานในมหาวิทยาลัย โดยจะเล่นดนตรีในแนวโฟล์คที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิต สะท้อนภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคม

Advertisements

ประวัติ คาราบาว

หลังจากผู้ก่อตั้งวงคาราบาวทั้งสามคนเดินทางกลับประเทศไทย แอ๊ดและเขียวยังคงเล่นดนตรีกลางคืนด้วยกัน ส่วนไข่ขอลาออกจากวงและไปทำงานอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งนี้ทางแอ๊ดและเขียวก็ได้ออกอัลบัมแรกของวงชื่อว่า ขี้เมา ในปี พ.ศ. 2524

ในตอนนั้นแอ๊ดได้ติดต่อวงโฮปให้มาช่วยโปรดิวซ์และเล่นดนตรีในห้องอัดสำหรับอัลบัมชุดนี้ แต่เมื่ออัลบัมถูกปล่อยสู่สาธารณะ คาราบาวกลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ก็พอเป็นที่รู้จักบ้างของคนในวงการเพลงเพื่อชีวิต

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 แม้จะมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาหนึ่งคนคือ เล็ก ปรีชา ชนะภัย แต่การออกอัลบัมชุดที่ 2 ในชื่อ แป๊ะขายขวด ของคาราบาวก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี เล็กได้ชักชวนสมาชิกจากวงเพรสซิเดนท์ที่ตนเคยสังกัดอย่าง อ๊อด เกริกกำพล ประถมปัทมะ ตำแหน่งมือเบสให้มาเล่นเป็นแบ็คอัพของคาราบาว

ประวัติวงคาราบาว

ยุครุ่งเรืองของวงคาราบาว อัลบัมชุดที่ 3

หลังจากคาราบาวออกอัลบัมชุดที่ 3 ชื่อว่า วณิพก ในปี พ.ศ. 2526 กับสังกัดอโซน่า ก็ทำให้คาราบาวเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยที่คนหันมาสนใจคาราบาวนั้นนอกจากการที่วงสามารถคว้าตัว หมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ มาร่วมเล่นเครื่องเคาะด้วยได้แล้ว

แนวเพลงในอัลบัมชุดที่ 3 ที่มีความแตกต่างจากเดิม การผสมผสานท่วงทำนองดนตรีไทยและสากลเข้าไว้ด้วยกัน กับจังหวะที่ชวนให้ลุกขึ้นเต้นได้ จึงทำให้นิยมเปิดในดิสโก้เธค ซึ่งนับว่าเป็นเพลงแรกของไทยที่ทำแบบนั้นได้ จึงช่วยทวีความมีชื่อเสียงให้กับทางวงคาราบาวมากขึ้น

เมื่ออัลบัมที่ 3 ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย ทำให้คาราบาวมีฐานแฟนคลับเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่าปฏิบัติการณ์ตามล่าหาอัลบัมชุดที่ 1 และ 2 ก็เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ทำให้ในช่วงเวลานั้นอัลบัมของคาราบาวเป็นที่นิบมมากและสองชุดแรกก็กลายเป็นอัลบัมเพลงหายาก

ต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2526 คาราบาวในออกอัลบัมชุดที่ 4 ในชื่อว่า ท.ทหารอดทน และได้แบ็คอัพของวงเพิ่มมาถึง 4 คน ได้แก่ เป้า อำนาจ ลูกจันทร์, เทียรี่ เมฆวัฒนา, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ รัช ไพรัช เพิ่มฉลาด ทว่าแม้จะเป็นยุครุ่งเรือง แต่แอ๊ดกลับมีปัญหากับทางต้นสังกัด ด้วยข้อจำกัดในการอัดเพลง

นอกจากนี้ อัลบัมชุดที่ 4 ของคาราบาว ยังถือเป็นอัลบัมแรกของวงที่ทางคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) สั่งห้ามนำไปเผยแพร่ออกอากาศตามสื่อต่าง ๆ คือเพลง ท.ทหารอดทน และ ทินเนอร์ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายอย่างมาก

ประวัติ คาราบาว

จุดสูงสุดของคาราบาว อัลบัมชุดที่ 5

ปลายปี พ.ศ. 2527 คาราบาวได้ออกอัลบัมชุดที่ 5 ในชื่อว่า เมด อิน ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นอัลบัมที่ประสบความสำเร็จสูงสุด โดยบางแหล่งข่าวระบุว่าเป็นอัลบัมที่ทำยอดขายได้ถึง 5 ล้านตลับ

เมื่อโด่งดังจนถึงขีดสุด วงคาราบาวก็ได้ตัดสินใจประกาศทัวร์คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกชื่อว่า คอนเสิร์ตทำโดยคนไทย จัดขึ้น ณ เวโลโดรม หัวมาก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 มียอดผู้เข้าชมคอนเสิร์ตในครั้งนี้มากถึง 6 หมื่นคน

แต่การจัดคอนเสิร์ตในครั้งนั้นกลับมีเหตุด้านความปลอดภัยและคนตีกัน จึงทำให้คาราบาวต้องยุติการแสดงในทันที แม้จะยังไม่ได้ร้องอีก 3-4 เพลง โดยเพลงสุดท้ายที่แอ๊ดร้องส่งแฟนคลับกลับบ้านคือเพลง รอยไถแปร

ประวัติวงคาราบาว

สมาชิกวงคาราบาวยุคคลาสสิก

ในยุคคลาสสิก หรือยุครุ่งเรืองคาราบาวนั้น สมาชิกในวงมีมากถึง 7 คนด้วยกัน โดยแต่ละคนก็มีหน้าที่และตำแหน่งในวงต่างกันดังนี้

1. แอ๊ด ยืนยง โอภากุล ตำแหน่ง หัวหน้าวง, ร้องน้ำ, กีตาร์, แต่งคำร้องและทำนอง

2. เล็ก ปรีชา ชนะภัย ตำแหน่ง กีตาร์, แบนโจ, ร้องนำ, แต่งคำร้องและทำนอง

3. เทียรี่ สุทธิยง เมฆวัฒนา ตำแหน่ง กีตาร์, ร้องนำ, ร้องประสาน, แต่งทำนอง

4. เขียว กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ตำแหน่ง กีตาร์, เบส, ร้องนำบางส่วน, ประสานเสียง, คีย์บอร์ด, ควบคุมการผลิต, เพอร์คัสชั่น

5. อ๊อด เกริกกำพล ประถมปัทมะ ตำแหน่ง เบส, ร้องนำบางส่วน

6. เล็ก ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ตำแหน่ง คีย์บอร์ด, ขลุ่ย, ฟลุต, แซ็กโซโฟน, ประสานเสียง, ร้องนำบางส่วน

7. เป้า อำนาจ ลูกจันทร์ ตำแหน่ง กลอง, เพอร์คัสชั่น

ประวัติ คาราบาว

สถานการณ์วงคาราบาวในยุคปัจจุบัน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา สมาชิกในวงคาราบาวต่างก็ทยอยออกไปทำผลงานเดี่ยวของตัวเอง ซึ่งในปัจจุบันคาราบาวมีอัลบั้มทั้งสิ้น 29 ชุด โดยอัลบั้มชุดล่าสุดที่วงคาราบาวออกจำหน่าย คือ 40 ปี ฅนคาราบาว ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งไม่นับรวมถึงอัลบั้มพิเศษของทางวงหรือของสมาชิกในวง หรือบทเพลงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ

หากนับรวมกันแล้วคงมีไม่ต่ำกว่า 100 ชุด มีเพลงไม่ต่ำกว่า 1,000 เพลง เป็นวงดนตรีที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดทั้งในวงการดนตรีทั่วไปและวงการเพลงเพื่อชีวิต เป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคมทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ฟังเพลง หรือผู้ที่นิยมในเพลงเพื่อชีวิตเท่านั้น จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ตำนานเพลงเพื่อชีวิต

แต่ในช่วงหลัง เนื่องจากอายุที่มากขึ้นของสมาชิกวงคาราบาว ทำให้การทัวร์คอนเสิร์ตเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 แอ๊ดจึงได้ประกาศเตรียมยุบวงคาราบาวลงอย่างเป็นทางการ โดยคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของวงจะจัดขึ้นในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2567

ประวัติวงคาราบาว

ภาพจาก : Carabao Official และ wikipedia

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button