อาหารไลฟ์สไตล์

คนท้องกินปลาร้าได้ไหม มีปลาอะไรบ้างแม่ควรกินและหลีกเลี่ยง ให้ลูกแข็งแรง

คนท้องกินปลาร้าได้ไหม กินแล้วจะเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์หรือเปล่า มีปลาและอาหารทะเลอะไรบ้างแม่ควรกิน และหลีกเลี่ยงเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงทั้งแม่และลูก

หนึ่งเรื่องที่คนเป็นแม่ให้ความสำคัญมากที่สุด นั่นคือ การดูแลสุขภาพ ซึ่งหัวใจหลักของสุขภาพที่ดีมาจากการกินอาหารที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์และสารอาหารที่มีโปรตีนสูงอย่าง “ปลา” และแน่นอนว่าคนมีครรภ์มักมาพร้อมกับอาการเปรี้ยวปากอยากกินของแสลงใช่ไหมล่ะ จนเกิดเป็นข้อสงสัยว่า เมนู “ปลาร้า” คนท้องกินได้ไหม

ก่อนที่เหล่าคุณแม่จะหยิบอะไรเข้าปาก วันนี้จะพาไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเมนูปลาร้าว่ากินได้ไหม รวมถึงปลาที่แพทย์บอกว่ากินได้ แต่ก็มีจำแนกเป็นปลาที่ควรกินและควรหลีกเลี่ยง ไม่รวมพวกปลากระป๋อง ปลาดิบ ปลาทู และอาหารทะเลที่รับประทานบ่อยอาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อย

คนท้องกินปลาร้าได้ไหม

คนท้องกินปลาร้าได้ไหม

คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องส่วนใหญ่มักจะโหยของหมักดอง ของแสลง หรือของที่มีกลิ่นแรงอย่าง “ปลาร้า” แต่ก็ต้องพับความคิดนี้ลงไปด้วยความลำบากใจเพราะกลัวเป็นอันตรายต่อลูกน้อย

แท้จริงแล้ว คนท้องสามารถกินปลาร้าได้ ไม่ใช่เมนูต้องห้าม แต่ควรกินปลาร้าที่ผ่านการปรุงสุกในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่กินบ่อย หลีกเลี่ยงรสเค็มและเผ็ดจัดที่อาจส่งผลต่อความดันโลหิต

ปลาร้าถือเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงกระดูกและฟัน ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี แต่การกิน “ปลาร้าดิบ” อาจปนเปื้อนเชื้อโรคและพยาธิที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เชื้อแบคทีเรีย Listeria monocytogenes ที่สามารถทำให้เกิดโรคลิสเตอเรีย อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้

ดังนั้น คนท้องจึงควรหลีกเลี่ยงการกินปลาร้าดิบ หากกินต้องมั่นใจว่าสะอาดได้มาตรฐาน และหมั่นสังเกตอาการแพ้อาหาร เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์

ปลาที่คนท้องควรกิน

ปลาที่คนท้องกินได้

แพทย์มักแนะนำให้คุณแม่บริโภคอาหารที่มี “โปรตีนจากเนื้อสัตว์ วิตามินและเกลือแร่ จากผักและผลไม้” ระหว่างตั้งครรภ์เพื่อบำรุงเจ้าตัวน้อยให้สุขภาพแข็งแรง ซึ่งปลาเป็นสัตว์ที่ตอบโจทย์คนเป็นแม่อย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่า ปลาเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี ย่อยง่าย ไขมันต่ำ โดยเฉพาะปลาทะเลมีกรดไขมัน (DHA, Omega-3) ที่มีประโยชน์ ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและสายตาของลูก ซึ่งคุณแม่สามารถทานปลาตลอดการตั้งครรภ์หรือแม้แต่ตอนให้นมลูกหลังคลอดได้เลย

ข้อควรระวังในการบริโภคปลาและปลาทะเลของคุณแม่ คือ การทานในปริมาณพอเหมาะ ไม่ทานมากจนเกินไป ปลาบางชนิดให้แบ่งทาน 2-3 มื้อต่อสัปดาห์หรือ 1 มื้อต่อสัปดาห์ เนื่องจากปลาทะเลอาจมีสารปรอทหรือการปนเปื้อนที่ตกค้างอยู่ ที่สำคัญคือต้องมั่นใจว่าปรุงสุกแล้ว

ปลาที่แนะนำให้กิน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

    • ปลาแซลมอน
    • ปลาทู
    • ปลากระพงดำ
    • ปลาช่อน
    • ปลาสวาย
    • ปลาหิมะ
    • ปลาดุกทะเล
    • ปลาจาระเม็ด
    • ปลาลิ้นหมา

ปลาที่แนะนำให้กิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์

    • ปลาเก๋า
    • ปลากระพงแดง
    • ปลามากุโร่ (อาหารญี่ปุ่น – เมนู อากามิ, ชูโทโร่, โอโทโร่)

อาหารทะเลกระป๋อง

ปลาและเมนูปลาที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง

คุณแม่อย่าเพิ่งวางใจว่า กินปลาได้ = กินได้ทุกปลา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุถึงปลา ปลาทะเล และเมนูปลาที่คนท้องควรหลีกเลี่ยงไว้เช่นเดียวกัน เช่น ปลาดิบ กุ้งดิบ ปูดิบ และปลาพันธุ์แปลกที่ไม่เคยกิน เนื่องจากพยาธิในปลาและกรรมวิธีในการผลิตอาหารที่มีส่วนผสมของปลาอาจไม่ปลอดภัยต่อเด็ก และอาจส่งผลให้คุณแม่มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องร่วงระหว่างตั้งครรภ์ เผื่อความสบายใจแนะนำให้คุณแม่งดบริโภคตลอดการตั้งครรภ์ หรือปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ด้วยก่อน

ปลาและอาหารทะเลที่ไม่แนะนำให้ทาน

    • ปลาอินทรี
    • ปลาฉนาก
    • ปลาฉลาม

นอกจากนี้มีเมนูปลาประป๋องหรืออาหารทะเลสำเร็จรูปที่อยู่ในกระป๋องก็ไม่ควรทาน เนื่องจากมีโซเดียมสูงจากกรรมวิธีที่ต้องทำให้อาหารทะเลอยู่ได้นานจึงอาจปนเปื้อนและไม่มีประโยชน์ต่อแม่และเด็ก ตัวอย่างเมนูต่อไปนี้

    • ปลากระป๋อง
    • ปลาทูน่ากระป๋อง
    • หอยปรุงรสอัดกระป๋อง
    • ปลาทะเลแปรรูป

สรุปว่า คนท้องสามารถกินปลาร้าได้ แต่ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ รวมถึงการกินปลาชนิดอื่น ๆ ควรเลือกที่สด สะอาด ผ่านกรรมวิธีให้น้อยที่สุด ซึ่งคีย์สำคัญของการกินปลาหรืออาหารทะเลของคุณแม่คือต้องปรุงสุก ห้ามกินแบบสุก ๆ ดิบ ๆ รวมถึงการหลีกเลี่ยงอาหารกระป๋องที่ไม่มีประโยชน์ต่อลูกน้อย หากบริโภคอาหารที่โซเดียมสูงเกินไป เสี่ยงต่อการโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

ขอบคุณข้อมูลจาก : phyathai

Peangaor

นักเขียนประจำ Thaiger จบการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มศว เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาชี้แจงแตกประเด็นในรูปแบบย่อยง่ายเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง รวมถึงเรื่อง Pop culture ซีรีส์ อาหาร และเทรนด์แฟชั่นที่กำลังอินเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ preme@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button