ข่าวต่างประเทศ

สุดปัง ไอศกรีมจากพลาสติก อาหารชนิดแรกของโลกที่ทำจากขยะพลาสติก

นักวิจัยร่วมมือกันคิดค้นอาหารแบบใหม่แบบสับ ไอศกรีมจากพลาสติก อาหารชนิดแรกของโลกที่ทำจากขยะพลาสติก เพื่อการกำจัดพลาสติกอย่างถาวร

เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันนั้น ล้ำหน้าล้ำสมัยจนบางอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้กลับเกิดขึ้นจริงเสียอย่างนั้น เช่นเดียวกับ ไอศกรีมจากพลาสติก อาหารชนิดแรกที่ทำจากขยะพลาสติก รังสรรค์โดย เอลีโอโนลา ออร์โตลานี (Eleonora Ortolani) ดีไซเนอร์ นักศึกษาปริญญาโท

Advertisements

เอลีโอโนลา ออร์โตลานี กำลังศึกษาอยู่สาขา Material Futures จากโรงเรียนออกแบบ ไอศกรีมจากพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปีสุดท้าย ซึ่งเธอได้ทำโครงการร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ เพื่อนำพลาสติกจำนวนเล็กน้อยมาย่อยสลายในห้องแล็บ

การวิจัยนี้เปลี่ยนพลาสติกเป็นวานิลลิน (vanillin) โมเลกุลของรสชาติในวานิลลา จากนั้นเธอได้ใช้วานิลลินทำเป็นอาหารที่นึกถึงรสชาติมากที่สุด นั่นก็คือ ไอศกรีม และสร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อว่า Guilty Flavours ขึ้นมา

แม้ว่าจะเป็นผลงานศิลปะ แต่ Guilty Flavours เกิดจากความคับข้องใจของ ออร์โตลานี เธอเห็นนักออกแบบใช้พลาสติกรีไซเคิลในการทำบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ แต่กลับหลอมหรือใส่วัสดุอื่น ๆ รวมถึงเรซินเข้าไปในพลาสติก จนไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อีก

ออร์โตลานีบอกอีกว่า เธออยากจะแก้ปัญหาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก ตอนแรกเธอคิดถึง ideonella sakaiensis แบคทีเรียจากธรรมชาติที่สามารถย่อยพลาสติกจำพวก PET ได้ สิ่งนี้ทำให้เธอคิดว่า จะมีวิธีใดบ้างที่ทำให้มนุษย์สามารถรับประทานพลาสติก เพื่อกำจัดไปได้อย่างถาวร

Advertisements

เดิมทีความคิดของเธออาจจะดูเป็นธุรกิจแสวงหาผลกำไร แต่เธอก็ได้พบกับ Hamid Ghoddusi ผู้นำหลักสูตรวิทยาศาสตร์การอาหารของ London Metropolitan University และ Joanna Sadler นักวิทยาศาสตร์การวิจัย ซึ่งทีมงานของมหาวิทยาลัย Edinburgh ใช้แบคทีเรียดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อสังเคราะห์วานิลลินจากพลาสติก

วานิลลินสังเคราะห์ มักผลิตจากน้ำมันดิบซึ่งมีต้นกำเนิดเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นเดียวกับพลาสติก มีขายและบริโภคกันทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ถูกกว่า สามารถใช้แทนวานิลลาธรรมชาติได้

ออร์โตลานีอธิบายว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ออกแบบเอ็นไซม์ที่พวกเขาใส่ไว้ในแบคทีเรีย E. coli เพื่อให้สามารถตัดการเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งอย่างยิ่ง ระหว่างโมเลกุลในโครงสร้างของพลาสติก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเผาผลาญของมัน จากนั้นเอนไซม์อีกตัวหนึ่งก็สังเคราะห์โมเลกุลที่ไม่เชื่อมโยงเหล่านี้ให้เป็นวานิลลิน

เธอบอกว่า สารนี้มีกลิ่นเหมือนกับวานิลลาที่เรารู้จักทุกประการ แต่เธอและคนอื่น ๆ ต่างก็ไม่เคยชิม และแม้ว่าโมเลกุลอาจมีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกับวานิลลินสังเคราะห์ที่มีอยู่ แต่ก็ถือเป็นส่วนผสมใหม่ ทำให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหารและนักวิทยาศาสตร์ ไม่อนุญาตให้ชิมจนกว่าจะผ่านการทดสอบทั้งหมด และประกาศว่าปลอดภัยต่อการรับประทาน

ด้วยเหตุนี้ ออร์โตลานีจึงนำไอศกรีมจากพลาสติก ใส่ตู้เย็นที่ล็อกไว้ที่นิทรรศการบัณฑิตศึกษาของ CSM เธอบอกว่า หากใครรู้ว่าไอศกรีมนี้ทำมาจากพลาสติก อาจจะรู้สึกแปลก ๆ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากระบบนิเวศเดียวกัน เราต้องเปลี่ยนวิธีการกินและมองว่า ในอนาคตอาหารทุกอย่างจะต้องผ่านการสังเคราะห์ และกระบวนการอีกมากมาย

หากเรายังมองว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่อยู่นอกธรรมชาติ เราจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาพลาสติกได้เลย อย่างไรก็ตาม ออร์โตลานี ยังเดินหน้าวิจัยเรื่องการกำจัดพลาสติกต่อไป เธอคาดการณ์ว่าวันหนึ่งกระบวนการที่คล้ายกับวิธีการเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นวานิลลิน จะสามารถนำมาใช้ในการผลิตโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตได้ในอนาคตอีกด้วย

อ้างอิง : 1

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button