ไลฟ์สไตล์

รู้จัก ‘กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์’ หนึ่งในกฎหมายสำคัญของราชวงศ์ไทย

กางตำราประวัติศาสตร์น่าสนใจ ‘กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ คืออะไร เหตุใดจึงสำคัญต่อราชสำนักและพระมหากษัตริย์ ชวนอ่านกฎระเบียบแบบแผนที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างช้านาน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันหลักที่ประชาชนชาวไทยต่างให้ความนับถือ อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานและไม่เคยถูกลบเลือนให้หายไปเลยในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งหนึ่งในขั้นตอนที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การสืบราชสมบัติ เพื่อส่งต่อบัลลังก์ให้กับองค์รัชทายาทขึ้นมาปกครองราชวงศ์สืบต่อไป

ในวันนี้ ทีมงาน Thaiger ขอพาทุกคนมากางตำราประวัติศาสตร์ไทย พร้อมพาทุกคนมารู้จักกับ กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพการสืบราชสมบัติของราชวงศ์ไทยกันมากยิ่งขึ้น หากพร้อมแล้ว มาอ่านไปพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ

กางตำรา ‘กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์’ คืออะไร

กฎมณเฑียรบาล คือ กฎหมายรักษาระเบียบวินัย ความเรียบร้อยของบ้านเมือง ตลอดจนความปลอดภัยภายในราชสำนักและพระมหากษัตริย์ กฎมณเฑียรบาลมีเนื้อหาสาระในหลายส่วน แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและเชื่อว่าประชาชนชาวไทยรู้จักกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ‘กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์’

กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ถูกบัญญัติขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถูกใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยสาระสำคัญคือ การกำหนดวิธีการเลือกและการตั้งรัชทายาท และยังเป็นกฎหมายที่ใช้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติ

สำหรับ กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ นับเป็นกฎหมายการสืบราชสมบัติฉบับแรกของไทยที่กำหนดการสืบโดยสายตรง ซึ่งมิได้เคยบัญญัติมาก่อนในประวัติศาสตร์การสืบราชสันตติราชวงศ์ของไทย รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชดำริว่าตามโบราณราชประเพณี และทรงมีสิทธิอำนาจที่จะทรงเลือกตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ คืออะไร
ภาพจาก : หอสมุด มสธ.

กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ถูกตราขึ้นเมื่อใด

การสืบราชสันตติวงศ์ของไทยในอดีต ยังไม่มีกฎระเบียบแบบแผนกำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ แต่ได้มีการกำหนดตำแหน่งที่จะสืบราชสันตติวงศ์สืบต่อจากพระมหากษัตริย์ไว้ ได้แก่ ตำแหน่งพระมหาอุปราช ในสมัยอยุธยา ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้กำหนดตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นเป็นฉบับแรก ที่กำหนดเป็นแบบแผนและเป็นระเบียบ คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 จนถึงปัจจุบัน

ตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2567 กำหนดให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอำนาจและสิทธิที่จะแต่งตั้งเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งให้เป็นรัชทายาท สุดแท้แต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควรและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ และเมื่อใดถึงเวลาจำเป็น ก็ให้พระรัชทายาทพระองค์นั้นเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทันที อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีอำนาจและสิทธิที่จะทรงถอนพระรัชทายาทออกจากตำแหน่งได้ และห้ามมิให้นับสตรีเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์

ในช่วงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นผลให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดรองรับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ไว้เพื่อให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา

การสืบราชสันตติวงศ์ คืออะไร
ภาพจาก : หอสมุด มสธ.

เกณฑ์การจัดลำดับการสืบสันตติวงศ์ มีอะไรบ้าง

ลำดับที่ 1 สมเด็จหน่อพุทธเจ้า หรือ สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จอัครมเหสี

ลำดับที่ 2 พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จหน่อพทุทธเจ้าและพระอัครชายาของสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น หรือพระราชโอรสพระองค์รอง ๆ ต่อไปตามลำดับพระชนมายุ

ลำดับที่ 3 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี

ลำดับที่ 4 พระราชโอรส ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 2

ลำดับที่ 5 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่น ๆ ในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ

ลำดับที่ 6 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้นพระอิสริยยศแห่งพระมารดา หรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ

ลำดับที่ 7 พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุด ในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว หรือพระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น หรือพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาหรือพระโอรสของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ

ลำดับที่ 8 สมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา

ลำดับที่ 9 พระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้นตามลำดับ ในกรณีสมเด็จพระอนุชาพระองค์ที่ควรได้ทรงเป็นทายาทนั้นหาพระองค์ไม่เสียแล้ว

ลำดับที่ 10 สมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระชนนีพระองค์ที่ถัดลงมาตามลำดับพระชนมายุ หรือพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้น ๆ สลับกัรไปตามลำดับ

ลำดับที่ 11 สมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีหรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ

ลำดับที่ 12 พระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอตามลำดับสลับกัน

ลำดับที่ 13 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือพระโอรสและเชื้อสายของท่านพระองค์นั้น ตามลำดับแห่งความสนิทมากและน้อย ในกรณีที่ต่อเมื่อหมดพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอทั้งหมดพระโอรสของท่านนั้น ๆ หมวดที่ 5 เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการสืบราชสันตติวงศ์ กล่าวคือ พระบรมราชวงศ์พระองค์ใดจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ควรที่จะเป็นผู้ที่มหาชนนับถือได้โดยเต็มที่และเอาเป็นที่พึ่งได้ตามความสุขใจ

เกณฑ์การจัดลำดับการสืบสันตติวงศ์
ภาพจาก : จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย

กำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ ทั้งหมด 8 หมวด 21 มาตรา

หมวดที่ 1 ว่าด้วยนามและกำหนดใช้กฎมณเฑียรบาล (มาตรา 1 – มาตรา 3)

หมวดที่ 2 บรรยายศัพท์ (มาตรา 4)

หมวดที่ 3 ว่าด้วยการทรงสมมุติและทรงถอนรัชทายาท (มาตรา 5 – มาตรา 7)

หมวดที่ 4 ว่าด้วยลำดับชั้นผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์ (มาตรา 8 – มาตรา 9)

หมวดที่ 5 ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์ (มาตรา 10 – มาตรา 13)

หมวดที่ 6 ว่าด้วยเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเยาว์ (มาตรา 14 – มาตรา 18)

หมวดที่ 7 ว่าด้วยการแก้กฎมณเฑียรบาลนี้ (มาตรา 19 – มาตรา 20)

หมวดที่ 8 ว่าด้วยผู้เป็นหน้าที่รักษากฎมณเฑียรบาลนี้ (มาตรา 21)

พระบรมราชาภิเษก ร.10
ภาพจาก : คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์

ในกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ ทั้ง 8 หมวด ความจากหมวดที่ 5 ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์ รวมถึงบุคคลดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและพระบรมวงศานุวงศ์
  • เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้ อนึ่ง เจ้านายพระองค์ไหนที่มีลักษณะต้องห้ามนี้ พระราชโอรสโดยตรงนั้น ก็ให้ถอดจากลำดับสืบราชสันตติด้วยทั้งสิ้น
  • พระสัญญาวิปลาส
  • ต้องราชทัณฑ์ในคดีมหันตโทษ
  • ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก
  • มีพระชายาเป็นชาวต่างประเทศ
  • เป็นผู้ที่ถูกถอนถอดออกจากตำแหน่งรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอนนี้จะเป็นไปในรัชกาลใด ๆ
  • เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสัตติวงศ์
  • ราชนารี

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2 3

กดติดตามเพจเฟซบุ๊ก Thaiger เพจใหม่ ไม่พลาดทุกข่าวสาร คลิกที่นี่

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button