อย่างงี้นี่เอง สาเหตุรถไฟฟ้า BTS เข้าสถานี ‘สะพานตากสิน’ แล้วไฟดับ
ไขข้อข้องใจ! ทำไม BTS ไฟดับ เวลาสับรางไปสถานี สะพานตากสิน ทำคนเมืองกรุงสับสนมานานหลายปี เฉลยแล้วเหตุผลเป็นเพราะ Air gap
รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ถือเป็นหัวใจหลักในการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบัน BTS ได้เปิดให้บริการทั้งหมดจำนวน 60 สถานี รวม 2 สาย แต่หนึ่งในคำถามที่ใครหลายคนไม่เข้าใจ คือทำไมบีทีเอสถึงไฟดับ เวลาสับรางเข้าบางสถานี อาทิ สถานีสะพานตากสิน วันนี้ Thaiger เลยถือโอกาส รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการเดินรถ BTS และสาเหตุที่ไฟดับเวลาสับรางระหว่างสถานีมาฝากกัน บอกเลยว่าถ้าได้อ่านต้องร้องอ๋อ พร้อมคลายข้อสงสัยอย่างแน่นอน
เปิดสาเหตุ ทำไมบีทีเอสไฟดับ ตอนสับรางสะพานตากสิน
หากใครที่เดินทางด้วย BTS คงมีโอกาสได้เจอเหตุการณ์ที่ไฟดับ เมื่อรถไฟฟ้าสับรางเข้าสถานีกันอยู่บ่อย ๆ โดยมักเกิดขึ้นบริเวณ สถานีสะพานตากสิน สถานีบางนา และสถานีห้าแยกลาดพร้าว
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ BTS ไฟดับระหว่างสับราง เกิดขึ้นเพราะ “Air gap” ซึ่งเป็นจุดที่แหล่งที่พลังงานขาดหาย โดยทางเพจ รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้เคยออกมาอธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่า
“รถไฟฟ้าบีทีเอสวิ่งโดยรับกระแสไฟฟ้าจาก รางนำไฟฟ้า (Conductor rail) หรือที่เราเรียกกันว่า รางที่สาม (Third Rail) รางนี้ติดตั้งคู่ขนานกับรางรถไฟฟ้าครับ จะเป็นรางยาว และมีการเว้นช่องว่างเป็นช่วง ๆ ซึ่งมีอยู่ตลอดเส้นทางให้บริการ โดยเฉพาะบริเวณจุดสับราง เราเรียกว่า Air gap”
ดังนั้นเมื่อรถไฟฟ้า BTS ต้องวิ่งผ่านบริเวณที่มีช่องว่าง (Gap) ก็ทำให้ไม่มีพลังงานไฟฟ้า เกิดเป็นเหตุการณ์ไฟดับชั่วขณะ หรือมีอาการไฟกระพริบถี่ ๆ ในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ทั้งนี้ทางเพจได้อธิบายเอาไว้เพิ่มเติมว่า “แต่เมื่อผ่าน gap ไฟฟ้าอาจไม่ดับเสมอไปครับ จะดับต่อเมื่อมีการวิ่งเปลี่ยนราง ทำให้ขารับไฟไม่ต่อกับ “รางที่สาม (Third Rail)” ไฟก็จะดับ แต่ขบวนรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ไฟจะไม่ดับ”
งานนี้ใครที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบ่อย ๆ คลายกังวลได้ เพราะไฟที่ดับระหว่างสับเปลี่ยนรางที่สถานีสะพานตากสิน รวมถึงสถานีอื่น ๆ ไม่ได้มีอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อการเดินรถแต่อย่างใด.