ข่าว

‘ภรรยาหลวง’ ฟ้อง ‘เมียน้อย’ ได้ไหม เปิดข้อกฎหมายเอาผิด เมื่อสามีแอบมีชู้

เมื่อทะเบียนสมรสไม่ได้เป็นเพียงแค่กระดาษ เปิดข้อกฎหมายที่น่ารู้ สามีแอบมีชู้ ภรรยาหลวงตามกฎหมายสามารถฟ้องร้องได้ไหม ต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง เผยช่องทางเอาผิด ไม่ได้หย่าก็สามารถทำได้

จากกรณีข่าวของ ‘จูน’ ภรรยาของ ‘หนุ่ม กะลา’ ได้ออกมาเคลื่อนไหว ขอปกป้องสิทธิของตนและลูก ขอเรียกร้องค่าเสียหหาย 10 ล้านบาท ท่ามกลางกระแสสังคมที่ให้การสนับสนุนฝั่งภรรยาเป็นอย่างมาก พร้อมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณจูนควรใช้สิทธิในการเป็นภรรยาหลวงฟ้องร้องให้เต็มที่ จนหลายคนเกิดความสงสัยว่าการเป็นภรรยาหลวงที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อสามีเกิดนอกใจมีชู้ สามารถฟ้องร้องได้ไหม

ในวันนี้ Thaiger จะมาเปิดข้อกฎหมายที่น่ารู้เกี่ยวกับการฟ้องร้องคู่สมรส เมื่ออีกฝ่ายมีชู้ ผู้ถูกกระทำสามารถลุกขึ้นมาปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเองได้อย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมแล้วมาทำความเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนสมรสและการฟ้องร้องชู้ไปพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ

เปิดข้อกฎหมายน่ารู้ เมื่อสามีแอบมีชู้ ภรรยาสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่

ตามกฎหมาย หากภรรยาหลวงมีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องกับ ‘สามี’ สิทธิของภรรยาจะถือว่าชอบด้วยกฎหมายทันที ยิ่งหากมี ‘บุคคลที่สาม’ หรือตามภาษาปากว่า ‘เมียน้อย’ เข้ามาข้องเกี่ยวในความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา ที่มีการอยู่กิน และจ่ายค่าเลี้ยงดูให้กัน ผู้เป็นภรรยาสามารถใช้สิทธิฟ้องเมียน้อยเรียกค่าเสียหายได้โดยไม่ต้องหย่ากับสามี

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากัน เพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ภริยา หรือสามี มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับอุปการะเลี้ยงดูยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น แต่ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการดังกล่าว สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนกันไม่ได้”

ทั้งนี้ ค่าทดแทนจะเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น ให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวด ๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร

สามีมีชู้ สามารถฟ้องร้องได้ไหม

หลักฐานที่ต้องเตรียมสำหรับการฟ้องชู้

1. สำเนาใบสำคัญการสมรส

2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ฟ้องคดี

3. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อของผู้ฟ้องคดี หรือของคู่สมรส

4. ทะเบียนบ้านของผู้ฟ้องคดี

5. สูติบัตร (เฉพาะกรณีที่มีบุตรด้วยกัน)

6. หลักฐานเกี่ยวกับอาชีพรายได้ของเราและคู่สมรส เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน

7. หลักฐานเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาของเราและคู่สมรส เช่น สำเนาปริญญาบัตร

8. หลักฐานเกี่ยวกับการมีฐานะทางสังคมของเราและคู่สมรส เช่น การดำรงตำแหน่งทางการเมือง การประกอบอาชีพดารา หรืออาชีพที่มีคนรู้จักเป็นจำนวนมาก

9. หลักฐานที่เกี่ยวกับการจัดงานแต่งงาน

เมียหลวงฟ้องเมียน้อยได้ไหม

หลักฐานที่ต้องเตรียมเกี่ยวกับการเป็นชู้

1. หลักฐานการสนทนาระหว่างชู้กับคู่สมรสทางโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชันไลน์ เว็บไซต์เฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันหาคู่ เป็นเต้น

2. หลักฐานรูปคู่ วิดีโอ ภาพถ่ายที่ได้จากการสืบชู้ ที่แสดงให้เห็นว่าตัวชู้กับคู่สมรส มีความสัมพันธ์กัน

3. หลักฐานการเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ ของคู่สมรส เช่น ใบเสร็จค่าที่พัก หลักฐานบันทึกการเดินทางจาก Google Maps เป็นต้น

4. หลักฐานการซื้อทรัพย์สินให้กันระหว่างชู้กับคู่สมรส

5. หลักฐานการโอนเงินให้กันระหว่างชู้กับคู่สมรส

6. ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ติดต่อกัน

7. หลักฐานการถ่ายรูปของชู้ที่เป็นรูปเดี่ยว แต่อยู่ในสถานที่ของคู่สมรส หรือถ่ายรูปติดทรัพย์สินของคู่สมรส

8. พยานบุคคลที่รู้เห็นการเป็นชู้

9. หลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หลักฐานการเป็นชู้ ไม่จำเป็นต้องใช้หลักฐานที่แสดงว่าชู้กับคู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กัน

หลักฐานที่ต้องเตรียมเกี่ยวกับการเป็นชู้

หลักพิจารณาในการกำหนดค่าทดแทน มีอะไรบ้าง

1. ฐานะทางสังคม อาชีพการงาน การศึกษาของทุกฝ่าย ทั้งคู่สมรส และตัวชู้ หากมีฐานะสังคมสูง การศึกษาสูง หน้าที่การงานดี ย่อมมีค่าทดแทนสูงตามไปด้วย

2. ระยะเวลาที่แต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน หากแต่งงานกันมาเป็นระยะเวลานาน และครอบครัวมั่นคง ในกรณีนี้สามารถเรียกค่าตอบแทนได้สูงกว่ากรณีที่คู่สมรสเพิ่งแต่งงานกันมาเป็นเวลาไม่นาน โดยใช้สำเนาใบสำคัญการสมรส และรูปถ่ายการคบหากันอยู่ร่วมกินกันก่อนจะจดทะเบียนสมรส เพื่อเป็นหลักฐานในการนำสืบ

3. มีการจัดงานแต่งงานหรือไม่ เนื่องจากการจัดพิธีมงคลสมรส ถือเป็นพิธีที่เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ศาลจะกำหนดค่าทดแทนให้สูงขึ้น เพราะการเป็นชู้จนทำให้ครอบครัวแตกแยก ย่อมทำให้คู่สมรสได้รับความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากมีสักขีพยานร่วมรู้เห็นกับการสมรสเป็นจำนวนมาก

4. การมีบุตรร่วมกัน ในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรด้วยกัน การเป็นชู้ย่อมทำให้ครอบครัวเกิดความแตกแยก ทำให้บุตรได้รับความเดือดร้อนเสียใจ โดยเฉพาะในกรณีที่บุตรยังเล็กอยู่ อาจทำให้เด็กได้รับผลกระทบทางจิตใจ และอาจทำให้ขาดการอุปการะเลี้ยงดู

5. ลักษณะความสัมพันธ์ในครอบครัวก่อนเกิดเหตุการณ์มีชู้ สำหรับความสัมพันธ์ในครอบครัว ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ศาลจะนำมาพิจารณา ยิ่งเป็นคู่ที่อยู่กินกันเป็นเวลานาน ครอบครัวมีความอบอุ่น ศาลมักจะให้ค่าทดแทนสูง

6. ความเปิดเผยในการเป็นชู้ หากชู้บางรายเปิดเผยความสัมพันธ์เต็มที่ หรืออาจเข้ามาระรานภรรยาหลวง กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่มีความสำนึกผิดในศีลธรรมอันดี ศาลมักจะกำหนดค่าเสียหายให้สูง

7. ระยะเวลาในการเป็นชู้ ในกรณีที่ระยะเวลาในการเป็นชู้ไม่นาน ศาลอาจกำหนดค่าเสียหายให้ต่ำ แต่ในกรณีที่พฤติกรรมชู้มาเป็นเวลานานจนกระทั่งถูกจับได้ ศาลจะกำหนดค่าทดแทนให้สูงขึ้น เนื่องจากฝ่ายชู้อาจได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ จากคู่สมรสเป็นจำนวนมาก

8. ผู้เป็นชู้ รู้หรือไม่ว่ากำลังเป็นชู้ สำหรับบุคคลที่เข้ามาเป็นมือที่สาม บางครั้งเขาอาจไม่รู้ว่าอีกฝ่ายมีคู่สมรสอยู่แล้ว และคู่สมรสอาจไปหลอกหลวงว่าตนเป็นโสด ในทางกฎหมายได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าชู้จะรู้หรือไม่ว่าบุคคลที่ตนเองเข้าไปมีความสัมพันธ์นั้นมีคู่สมรสอยู่แล้ว ต้องได้รับผิดทางแพ่งตามกฎหมาย

9. ความสำนึกผิดหลังถูกจับได้ว่าคบชู้ ศาลจะกำหนดค่าทดแทนสูงหรือต่ำนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคู่สมรสฝ่ายที่มีชู้หรือฝ่ายตัวชู้ จะรู้สึกสำนึกผิด และยอมยุติความสัมพันธ์ดังกล่าว รวมถึงแสดงความจริงใจด้วยการขอขมากับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่

10. มีการฟ้องหย่า เพื่อเรียกทรัพย์สินจากอีกฝ่ายร่วมด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้จะเป็นไปตามข้อกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523

ศาลจะพิจารณาจากองค์ประกอบเหล่านี้ เพื่อกำหนดค่าทดแทน ว่าการคบชู้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง และครอบครัวมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญหากดำเนินการฟ้องชู้ โดยไม่ประสงค์ฟ้องหย่า จะไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสที่คบชู้ได้

ทั้งนี้ การฟ้องชู้ ถือเป็นคดีแพ่ง ต้องพิจารณาคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว โดยกระบวนการพิจารณาจะเน้นการไกล่เกลี่ยประรีประนอมยอมความกัน มากกว่าจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก1 2 3

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button