นักวิชาการวิเคราะห์ หลัง ITV แจง ชี้เอกสารที่ ‘เรืองไกร’ ยื่นใช้ไม่ได้แล้ว
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการและนักเขียน วิเคราะห์หลัง ITV แจงเรื่องเอกสารไม่ตรงกับคลิป เผยการชี้แจงครั้งนี้ทำให้ เอกสารที่ ‘เรืองไกร’ ยื่นใช้ไม่ได้แล้ว
สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กวิเคราะห์หลัง คณะกรรมการบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ออกเอกสารชี้แจงปมการบันทึกรายงานการประชุมไม่ตรงกับคลิปวิดีโอขณะประชุม ระบุว่า บริษัทยังคงดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ที่จดทะเบียน ส่วนประเด็นงบการเงินไตรมาส 1 ที่เป็นข่าว เป็นเพียงร่างงบการเงินที่ใช้ภายในบริษัท ยังไม่ได้ตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี และไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้นั้น
โดยระบุว่าเอกสารที่นาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เอาไปยื่นไม่สามารถใช้ได้แล้ว “[16 มิ.ย.] ในเมื่อบริษัทไอทีวียืนยันชัดเจนในจดหมายชี้แจงวันที่ 15 มิ.ย. ว่า ร่างงบไตรมาส 1 ปี 2566 (น่าจะชุดเดียวกันกับที่เรืองไกรเอาไปร้อง กกต.) เป็นเอกสารภายในบริษัทเท่านั้น “จึงยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ” (แต่พอมีคนตั้งคำถามมากๆ ว่า แล้วทำไมเอาเอกสารภายในขึ้นเว็บบริษัทให้คนดาวน์โหลดได้ล่ะ เมื่อวานก็ได้มีการซ่อนลิงก์ดาวน์โหลดงบไตรมาสทั้งหมดแล้ว ถถถถ)
ในเมื่อบริษัทยอมรับว่าเป็นเอกสารภายในเท่านั้น ก็แปลว่า ข้อมูลล่าสุดที่เป็นทางการ ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ นำไปใช้อ้างอิงได้ ว่าวันนี้ “ไอทีวีทำธุรกิจอะไร” ก็มีแค่ งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของ บมจ. อินทัช บริษัทแม่ของไอทีวี ซึ่งงบการเงินระหว่างกาลชุดนี้ยื่นต่อ ก.ล.ต. ด้วย และผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีแล้ว รายงานการสอบทานของผู้สอบบัญชีระบุว่า ได้สอบทานงบของบริษัทอินทัช “และบริษัทย่อย” ซึ่งก็แปลว่า สอบทานงบไตรมาส 1 ของไอทีวีมาแล้วเช่นกัน
งบไตรมาส 1 ปี 2566 ของอินทัช ชี้ชัดว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 สถานะของไอทีวี คือ “หยุดดำเนินธุรกิจ” ค่ะ (ดูภาพประกอบด้านล่าง) ซึ่งก็ตรงกับข้อเท็จจริงที่เราได้รับรู้มาตลอด ก่อนเดือนเมษายนที่ดูเหมือนจะเริ่มมีความพยายามเปลี่ยนให้ไอทีวีลุกขึ้นมาทำสื่อ(อะไรก็ได้)
ในบรรดาเอกสารต่างๆ ที่ปรากฎในข่าวว่า เรืองไกรเอาไปร้อง กกต. มาถึงวันนี้มีหลายชุดที่ “ใช้ไม่ได้” แล้ว —
1. แบบ ส.บช.3 ใบปะหน้านำส่งงบการเงินประจำปี 2565 น่าจะเข้าข่าย “เอกสารเท็จ” เนื่องจากระบุ “สื่อโฆษณา” ในช่อง “สินค้าและบริการ” ทั้งที่ไอทีวีไม่ได้ทำธุรกิจนี้และไม่มีรายได้จากธุรกิจนี้เลยในปี 2565 –> บริษัทไอทีวีควรเร่งส่งแบบฟอร์มนี้ฉบับแก้ไขให้กับกรมพัฒน์ฯ โดยเร็ว และ กกต. ไม่ควรพิจารณาแบบ ส.บช.3 ที่นักร้องเอาไปร้อง
2. รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี วันที่ 26 เม.ย. 2566 มีข้อโต้แย้งมากมายว่า บันทึกไม่ตรงกับคลิปที่สื่อเผยแพร่ (และไอทีวียอมรับผ่านจดหมายชี้แจงว่า เป็นคลิปจริง) เช่น คำตอบ “ไม่ได้ดำเนินการใดๆ” กลับถูกบันทึกเป็น “ยังดำเนินการตามวัตถุประสงค์…” ดังนั้นรายงานนี้ถ้าไม่แก้ น่าจะเข้าข่าย “รายงานการประชุมเท็จ” –> ไอทีวีควรแก้ไขรายงานการประชุมให้ถูกต้อง และ กกต. ไม่ควรพิจารณารายงานเก่าที่นักร้องเอาไปร้อง
3. ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี อันนี้ไอทีวีบอกเองว่า “ยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ” –> กกต. ไม่ควรพิจารณา
ฝากสื่อตามต่อด้วยนะคะ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องตาม คิดว่ามาถึงจุดนี้ บมจ. อินทัช ในฐานะบริษัทแม่ของไอทีวีที่จัดการทุกสิ่งให้ ควรต้องออกโรงแล้วล่ะ คณะกรรมการตรวจสอบ (audit committee) ของบริษัทก็มี ยิ่งอยู่นิ่งๆ ไปนานๆ ผู้ถือหุ้นจะหาว่าขาดธรรมาภิบาลนะคะ
ป.ล. ในส่วน “บริการลงสื่อโฆษณา” ให้กับบริษัทในเครือ (กลุ่มอินทัช) ที่ร่างงบไตรมาส 1 ของไอทีวีอ้างว่า เริ่มเสนอ 24 ก.พ. 66 (วันเดียวกันกับที่ผู้สอบบัญชีเซ็นงบปี 65 อิอิ) และจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ปี 2566 นั้น ไม่น่าจะเสนอให้อินทัชหรือบริษัทแม่ เพราะงบไตรมาส 1 ปี 2566 ของอินทัชยังไม่ปรากฎธุรกรรมนี้ใน “รายการระหว่างกัน” แต่กลุ่มอินทัชนอกจากอินทัชเองแล้ว มีบริษัทอีกแค่ 3 แห่ง นอกจากไอทีวี เชื่อว่านักการเงินและนักบัญชีหลายท่านจะรอการรายงานงบไตรมาส 2 ของอินทัชด้วยใจระทึก และอีกหลายเดือนนับจากนี้ เราน่าจะเรียกร้องให้ไอทีวีเปิดงบไตรมาส 2 ด้วยนะเพื่อความชัดเจน