ข่าว

อ.เจษฎา เชื่อไม่ใช่ ‘ตะขาบยักษ์-ตะบองพลำ’ คาดว่าเป็นสิ่งนี้

อ.เจษฎา ตอบแล้วปม ตะขาบยักษ์ เชื่อไม่ใช่ทั้งตะขาบยักษ์และตะบองพลำ แต่เป็นเซนติปีด และมีเรื่องมุมกล้องหลอกตาด้วย

จากที่มีผู้ใช้ TikTok เผยแพร่คลิปตะขาบยักษ์สร้างความขนลุกให้ชาวเน็ต และมีการมาขอเลขเด็ดกันตามที่รายงานไปก่อนหน้านี้นั้น ล่าสุด ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กว่าแท้จริงแล้วมันอาจจะเป็นมุมกล้อง ไม่ใช่ตะขาบยักษ์และตะบองพลำ

Advertisements

อ.เจษฎา ระบุว่า “คือถ้าดูจากรูปร่าง ลักษณะปล้อง จำนวนของขาเดินต่อปล้อง หนวดและเขี้ยวพิษ ก็ไม่ผิดแน่ๆ ที่จะบอกว่ามันเป็นสัตว์กลุ่มตะขาบ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า centipede (เซนติปีด หมายถึง มี 100 ขา) ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และเป็นสัตว์ขาข้อ อยู่ในชั้น (class) ชิโลโปดา Chilopoda พบได้ในเขตร้อนชื้น อาศัยอยู่บนบก มีลำตัวแบนราบ มีปล้อง 15-100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่ และเขี้ยวพิษ 1 คู่เชื่อมต่อกับต่อมพิษ เมื่อกัดเหยื่อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เหยื่อเจ็บปวดและเป็นอัมพาต (ซึ่งลักษณะทั้งหมดนี้ ตรงกับตัวที่อยู่ในคลิปข่าว)

แต่ถึงแม้ว่าพวกตะขาบนั้นจะมีหลายขนาด แต่ส่วนใหญ่ความยาวของลำตัว ของพวกมันจะอยู่ที่ประมาณ 3-8 เซนติเมตร โดยตะขาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือสปีชีส์ Scolopendra heros หรือ ตะขาบทะเลทรายยักษ์ (หรือตะขาบโซโนรันยักษ์ ตะขาบแดงเท็กซัส และตะขาบแดงยักษ์) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของตะขาบในทวีปอเมริกาเหนือ พบทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโกตอนเหนือ โดยมีความยาว 20-25 เซนติเมตร

ดังนั้น ตะขาบที่เห็นในคลิปข่าว (ซึ่งไม่ชัดเจนว่าถ่ายจากที่ไหน ประเทศอะไร) จึงไม่น่าจะมีตัวยาวมากมายนัก ไม่ได้ยาวเป็นเมตรอะไร อย่างที่หลายคนดูคลิปนั้นแล้วเข้าใจกัน … แต่เป็นเรื่องของ “มุมกล้อง” หลอกตา !

คือถ้าลองหมุนภาพ และก็ลดขนาดให้เหมาะสม ก็จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่ตะขาบยักษ์กำลังไต่อยู่ที่มุมประตูอย่างที่เข้าใจกัน แต่มันก็ตะขาบตัวขนาดปรกติ ที่เลื้อยอยู่ตรงขอบโต๊ะมากกว่าครับ

Advertisements

ส่วนว่ามันเป็นตะขาบชนิดไหน สปีชีส์ไหน คงต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ แต่เท่าที่ผมเช็คดู ชั้นชิโลโปดา (class Chilopoda) นั้้นแบ่งเป็นแบ่งเป็น 5 ลำดับ (order) คือ Scutigeromorpha (ลำดับของตะขาบบ้าน) , Lithobiomorpha (ลำดับของตะขาบหิน) , Craterostigmomorpha , Scolopendromorpha (ลำดับของตะขาบเขตร้อน) และ Geophilomorpha (ลำดับของตะขาบดิน)

ซึ่งเจ้าตัวที่อยู่ในคลิปวิดีโอดังกล่าวนั้น น่าจะจัดอยู่ในลำดับ Geophilomorpha หรือเป็นพวก ตะขาบดิน (soil centipede) เนื่องจากมีจำนวนปล้องค่อนข้างเยอะ ทรงผอมยาว แต่ความยาวจริงของมันก็ไม่ได้ยาวอะไรนะ ประมาณ 10 เซนติเมตร .. แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวในคลิป มันจะเป็นตะขาบดินสปีชีส์อะไรครับ

ขณะที่ตะขาบที่เราเห็นกันส่วนใหญ่ จะเป็นตะขาบบ้าน (house centipede) ซึ่งจำนวนปล้องน้อย ตัวอ้วน และความยาวจริง ก็ยาวพอๆ หรือมากกว่าตะขาบดินอีกครับ

ส่วน “ตะบองพลำ” มันแค่สัตว์ในตำนานน่ะ มีคนสรุปไว้ว่า ถ้ามีจริงตามนั้น ตัวมันต้องยาว 12 เมตร (ซึ่งตะขาบยาวๆ พันธุ์ที่ยาวสุดในโลก ก็ไม่เกิน 30 เซนติเมตรครับ) ลองอ่านในนี้ดูครับ https://fishingthai.com/centipedes-in-thai-legends/

ตะขาบยักษ์ ตัวยาวเกือบ 1 เมตร ไต่กำแพงบ้าน ชาวเน็ตแห่ขอเลขเด็ด (คลิป)

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button