‘ประยุทธ์’ ห่วงสถานการณ์โควิด พบผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่ม 608
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ประยุทธ์ ห่วง สถานการณ์โควิด พบผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่ม 608 วอนบุตรหลายพามาฉีดวัคซีนกระตุ้น
นาย อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ตามรายงานล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 29 พ.ค. 66 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ โดยในกทม. และปริมณฑล พบการระบาดสูงกว่าพื้นที่อื่น และผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ติดเชื้อจากคนในครอบครัว และไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด โดยนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยกลุ่มเสี่ยง 608 ย้ำขอให้ลูกหลานพามารับวัคซีนประจำปี รวมทั้ง ด้านกระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชนที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้นมานานกว่า 3 เดือน ควรไปรับวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่ง และหน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้
นายอนุชาฯ กล่าวถึงการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุด ของกระทรวงสาธารณสุขว่า สถานการณ์การระบาดเป็นไปตามคาดการณ์ คือ หลังเทศกาลสงกรานต์ โรงเรียนเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน จะพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 2,970 ราย เฉลี่ยวันละ 424 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 425 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 253 ราย และเสียชีวิต 42 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย แนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มี 60 กว่าราย แต่ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิตยังเหมือนเดิม คือเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวที่มีกิจกรรมนอกบ้าน ที่สำคัญเกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยขณะนี้ในเขตกทม. และปริมณฑล พบมีการระบาดมากกว่าพื้นที่อื่น
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือประสานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ให้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนประจำปี เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนเวชภัณฑ์และข้อมูลต่าง ๆ ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 ซึ่งความสามารถในการแพร่ระบาดและความรุนแรงไม่ได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม เตียงรองรับผู้ป่วยภาพรวมทั้งประเทศและ กทม. ยังคงเพียงพอ อัตราครองเตียงอยู่ที่ 22% ขณะที่ยาที่ใช้ในการรักษามีเพียงพอเช่นกัน
“การฉีดวัคซีนถือเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับผู้สูงอายุ เพราะช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 608 ย้ำขอให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุในบ้านไปฉีดวัคซีนประจำปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์การฉีดวัคซีนประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และหากลูกหลานป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ต้องไม่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือหากจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้สูงอายุ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข
แนะนำประชาชนที่ได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับเข้มกระตุ้นมานานกว่า 3 เดือน ควรไปรับวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่ง และหน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ เพื่อช่วยลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้อย่างดี อีกทั้งปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น หากมีอาการแต่ตรวจ ATK ไม่พบ อาจสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ แม้เป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้ามีอาการไม่มาก สามารถใช้การรักษาตามอาการไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว เป็นผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย” นายอนุชาฯ กล่าว