ข่าวภูมิภาค

ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมการฝึกภาคทะเล ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2561

วันนี้ (24 เมษายน 2561) เวลา 10.00 น. พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ
พร้อมคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ และผู้แทนกองทัพอากาศ เดินทางไปตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การฝึกภาคทะเล ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2561 บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งจอดลอยลำอยู่ในพื้นที่ทะเล
อันดามัน บริเวณจังหวัดภูเก็ต โดยมี พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2561 ให้การต้อนรับ
จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะ ได้ลงนามในสมุดเยี่ยม และฟังบรรยายสรุปการฝึก ก่อนจะขึ้นชมการปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีอากาศยานจากกองทัพอากาศ ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่และสกัดกั้นแบบกริพเพน จำนวน 4 เครื่อง และอากาศยานเตือนภัยล่วงหน้าแบบ SAAB 340 AEW จำนวน 1 เครื่อง เข้าทำการฝึกในหัวข้อการปฏิบัติการร่วมในการสนับสนุนการป้องกันภัยทางอากาศให้แก่กองเรือ และการปฏิบัติการร่วมในการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในทะเล รวมถึงการยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ โดยเรือหลวงเจ้าพระยา
เวลา 11.40 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ เดินทางไปยังดาดฟ้าบินของเรือหลวงจักรีนฤเบศร เพื่อรับการเคารพ โดยการยิงสลุตจากเรือหลวงเจ้าพระยา จำนวน 19 นัด จากนั้นให้โอวาทกำลังพลในส่วนต่าง ๆ ที่เข้ารับการฝึก ประกอบด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงนราธิวาส และอากาศยานจากกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ พร้อมทั้งรับมอบลองลูกปืนสลุตจาก พลเรือเอก รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
ในช่วงบ่าย ผู้บัญชาการทหารเรือ ออกเดินทางจากเรือหลวงจักรีนฤเบศร โดยเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งจัดจากกองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ จากเรือหลวงจักรีนฤเบศร ไปยังบริเวณเขาหน้ายักษ์ ตำบล ลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อชมการยิงอาวุธทางยุทธวิธี และยิงเป้าอากาศยาน ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง โดยเป็นการจำลองภาพปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกองกำลังเฉพาะกิจ ทางเรือ กับหน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ประจำพื้นที่ 3 โดยมีกำลังที่เข้าร่วมการฝึกประกอบด้วย เรือหลวงนเรศวร กำลังจากกองพันรักษาฝั่งที่ 11 กรมรักษาฝั่งที่ 1 (ปืนใหญ่รักษาฝั่งขนาด 155 มิลลิเมตร จำนวน 4 กระบอก) และ กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 กรมต่อสู้อากาศยานที่ 2 (ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มิลลิเมตร จำนวน 6 แท่น)
สำหรับในวันที่ 25 เมษายน 2561 กองอำนวยการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2561 จะได้จัดให้มี การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย และการฝึกการปฏิบัติการร่วมของหน่วยงาน ต่าง ๆ ภายในศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดย พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะนายทหารระดับสูง ของกองทัพเรือ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการในศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการฝึกของ ศรชล. บนเรือหลวงอ่างทอง ทำการฝึกในพื้นที่
ตอนเหนือของเกาะภูเก็ต มีกำลังที่เข้าร่วมการฝึกประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงนราธิวาส เรือหลวงหัวหิน เรือ ต.991 เรือจากหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศรชล. อาทิ เรือตำรวจน้ำ 814 เรือตรวจการณ์ประมง เรือตรวจการณ์ศุลกากร รวมถึงอากาศยานอีกจำนวนหนึ่ง โดยได้สมมุติสถานการณ์ว่ามีกลุ่มผู้ต้องสงสัยนำวัตถุต้องห้ามเข้ามาในประเทศไทยโดยลำเลียงมาทางเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยมีการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศรชล. และชุดสหวิชาชีพ เพื่อสกัดกั้นและเข้าตรวจค้น ซึ่งได้กำหนดให้เกิดสถานการณ์ว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยได้มีการขัดขืนต่อสู้จนเกิดการปะทะกันจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ต้องมีการลำเลียงส่งกลับสายแพทย์ด้วยอากาศยานเป็นการเร่งด่วน
ภายหลังสังเกตการณ์การฝึกของหน่วยต่าง ๆ ใน ศรชล.แล้ว รองผู้บัญชาการทหารเรือ จะเดินทางโดยเรือระบายพลของเรือหลวงอ่างทอง มาขึ้นฝั่งบริเวณหาดทรายแก้ว อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต จากนั้น จะเดินทางต่อไปยังโรงเรียนบ้านท่าฉัตรไชย ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงซึ่งได้จัดให้เป็น พื้นที่การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย เพื่อทำพิธีส่งมอบการพัฒนาพื้นที่ ให้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยการทาสีอาคารเรียน สร้างลานกีฬา รวมถึงการจัดกิจกรรมนันทนาการให้แก่เยาวชนและประชาชนในพื้นที่การฝึก
ในส่วนของการฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัตินั้น ในปีนี้ได้กำหนดให้หมู่เรือบรรเทาสาธารณภัย เดินทางเข้าพื้นที่บริเวณตอนเหนือของเกาะภูเก็ต โดยสมมุติสถานการณ์ให้เป็นพื้นที่
ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลน ซึ่งจะทำการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย การเคลื่อนย้าย/อพยพผู้ประสบภัยบนฝั่ง การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ศูนย์อพยพผู้ประสบภัย ศูนย์พักพิงชั่วคราว ในบริเวณพื้นที่บ้านฉัตรไชย ซึ่งการให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือ HA/DR (Humanitarian Assistance :HA Disaster Relief: DR) นับได้ว่าเป็นภารกิจที่สำคัญของกองทัพเรือ ที่ต้องดำรงไว้โดยเฉพาะขีดความสามารถในการให้ความช่วยเหลือจากทะเล ซึ่งเป็นขีดความสามารถที่หน่วยงานอื่นไม่สามารถกระทำได้ โดยการฝึก HA/DR เป็นการเน้นย้ำบทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือที่พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังคำกล่าวที่ว่า กองทัพเรือ จะอยู่เคียงข้างประชาชน
สำหรับการฝึกกองทัพเรือ นั้น กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกเป็นประจำทุกปี เพื่อบูรณาการการฝึกภายในกองทัพเรือ ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือตามสาขาต่าง ๆ การปฏิบัติและการสนับสนุนของกรมในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์การฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยการฝึกในปีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร ทดสอบการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ของกองทัพเรือ และทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ 1) เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร 2) เพื่อทดสอบแนวทางการใช้กำลัง และการอำนวยการยุทธ์ ตามแผนยุทธการที่ใช้ในการฝึก
3) เพื่อทดสอบการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในภาวะปกติถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระดับต่ำ และ 4) เพื่อทดสอบขีดความสามารถการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้อนุมัติให้จัดการฝึกกองทัพเรือตามวงรอบการฝึก 2 ปี โดยใช้สถานการณ์ฝึกต่อเนื่องในปีแรกจะทำการฝึกสถานการณ์ในภาวะปกติจนถึงภาวะความขัดแย้งระดับต่ำ และปีที่สองจะทำการฝึกสถานการณ์ภาวะความขัดแย้งระดับปานกลางถึงความขัดแย้งระดับสูง โดยการฝึกในปี 2561 จะทำการฝึก ในขั้นสถานการณ์ปกติถึงความขัดแย้งระดับต่ำ ลักษณะการฝึกจะเป็นการฝึกภาคปฏิบัติ โดยแยกฝึกตามสาขาปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ เพื่อทดสอบความพร้อมในการปฏิบัติตามกิจที่ได้รับมอบให้หน่วยมีความพร้อมที่จะบูรณาการการฝึกร่วมกับหน่วยอื่น ๆ ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2562 ต่อไป รวมทั้งจะมีการฝึกด้านการรักษาผลประโยชน์
ของชาติทางทะเล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติด้วย
ขั้นการฝึกที่สำคัญในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2561 ประกอบด้วย
1. การฝึกปัญหาที่บังคับการ ซึ่งเป็นการฝึกทดสอบกระบวนการวางแผนประณีต การฝึกด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ โดยจะทำการฝึกระหว่างวันที่ 12 – 23 มีนาคม 2561 และทำการฝึกสถานการณ์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 26 – 30 มีนาคม 2561 2. การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล จะเป็นการฝึกภาคปฏิบัติ โดยแยกฝึกตามสาขาปฏิบัติการ ของหน่วยต่าง ๆ เพื่อทดสอบความพร้อมในการปฏิบัติตามกิจที่ได้รับมอบ การฝึกด้านการรักษาผลประโยชน์ ของชาติทางทะเล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และที่สำคัญจะได้มีการบูรณาการ
การฝึกร่วมกับกำลังของกองทัพบกและกองทัพอากาศด้วย ทำการฝึกระหว่างวันที่ 16 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2561 ในพื้นที่ทั้งด้านอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีหัวข้อการฝึกที่สำคัญ ดังนี้
2.1 การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือและอากาศยานของกองทัพอากาศ ในพื้นที่บริเวณฝั่งทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกของเกาะภูเก็ต ระหว่างวันที่ 23 – 24 เมษายน 2561
2.2 การฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธีฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณเขาหน้ายักษ์ จังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 20 – 25 เมษายน 2561
2.3 การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติของกองทัพเรือร่วมตามแนวความคิดจากเรือสู่ฝั่ง หรือ From the Sea โดยหมู่เรือฝึกฯ เดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบ เดินทางไปฝึกในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน และฝึกร่วมกับหน่วยงานพลเรือนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 18 – 25 เมษายน 2561
2.4 การฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ซึ่งจะมีการฝึกปฏิบัติการร่วมของกองกำลังนาวิกโยธิน และกำลังของกองทัพบก บริเวณสนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2561

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button