กองทัพบกแจงภาพ ‘ต้มจืดวิญญาณไก่’ เป็นเรื่องเข้าใจผิด ไม่ใช่อาหารจัดเลี้ยง
กองทัพบกแจกกระแสโซเชี่ยลหลังมีพลทหารนำภาพ ต้มจืดวิญญาณไก่ มาโพสต์ ชี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด ไม่ใช่อาหารจัดเลี้ยง แต่เป็นน้ำซุบที่กำลังพลมาขอต้มมาม่า
จากกรณีที่มีนายทหารได้โพสต์ภาพร้องเรียน ต้มจืดวิญญาณไก่ หรือ ภาพแกงจืดต้มฟักที่แทบจะไม่มีเนื้อสัตว์ และได้ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบค่าอาหารรายหัวว่าหายไปไหน และมีการทุจริตหรือไม่ จนนำไปสู่การแชร์ต่อและวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นวงกว้างนั้น
พล.ต.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย พ.ท.สกล มีสัมฤทธิ์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 151 (ร.151 พัน.2) แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงของภาพดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน กองทัพบกได้ดำเนินการตามระเบียบของกองทัพบก ในการประกอบอาหาร โดยหักจากเบี้ยเลี้ยงของพลทหารจำนวน 70 บาท/คน/วัน หรือ 3 มื้อ หรือมื้อละประมาณ 23 บาท
โดยมีอาหาร 2 อย่างและข้าว ซึ่งกำลังพล สามารถมารับประทานอาหารได้ที่โรงเลี้ยง และกำลังพลที่เข้าเวรยาม จะมีปิ่นโตให้กำลังพลนำไปรับประทานหลังออกเวรยาม พร้อมยืนยันว่า น้ำแกงในกล่องพลาสติกสีฟ้านั้น อาหารดังกล่าวเป็นอาหารเพื่อไม่ให้เหลือทิ้ง และไม่ใช่อาหารกองพันจัดไว้ให้กำลังพลรับประทาร
แต่กลุ่มเพื่อนพลทหารที่โพสต์ข้อความนั้น ได้ไปขอน้ำซุปจากโรงเลี้ยง เพื่อนำไปต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จึงทำให้มีพลทหารฯ ที่รอมารับประทานอาหารไม่ทราบ และนำมาสื่อสารบนโลกสังคมออนไลน์ จนเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งหลังจากนั้น กองพันฯ ได้พูดคุยกับพลทหารดังกล่าวที่เกิดขึ้นแล้ว
ทั้งนี้จะมีตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ และพิจารณาดำเนินการกับนายทหารที่โพสต์ภาพดังกล่าว
ด้าน พล.ต.หญิงซิริจันทร์ กล่าวต่ออีกว่า กองทัพบก มีเมนูอาหารที่จัดทำโดยกรมพลาธิการทหารบก ซึ่งมีเมนูอาหารหมุนเวียนกัน โดยจะต้องมีคุณค่าทางอาหาร คำนึงถึงแคลอรี่ มีปริมาณเพียงพอต่อกำลังพล เป็นไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่น และถูกสุขลักษณะ รวมถึงยังคงมีค่าตอบแทน และเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนตามอัตราที่กำหนด และชั้นปี รวมถึงยังมีเบี้ยเลี้ยง ที่ทางหน่วยทหาร หักออกมาเป็นค่าอาหารรายวัน
และในการประจำการที่ชายแดนภาคใต้ ก็จะได้รับค่าเสี่ยงภัย เงินเดือน และค่าตอบแทนประมาณ 10,000 บาท และได้ค่าเสี่ยงภัย 12,500 บาท และค่าออกสนามอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 15,000 บาทรวมถึงสวัสดิการค่าแต่งกาย ค่ารักษาพยาบาล ประกันชีวิตเพิ่มเติม การศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. และการฝึกอาชีพจนปลดประจำการ รวมถึงยังมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง ร่วมกับเอกชน เพื่อบรรจุเข้าสู่องค์กรภาคเอกชน เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือรวมไปถึงการสอบบรรจุเป็นกำลังพลของกองทัพ