ผู้ว่าราชการภูเก็ต เข้าเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวนักศึกษา ที่ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กตก
เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (11 มี.ค.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะ พร้อมด้วย นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอดิศักดิ์ ชัชเวช ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดภูเก็ต นายวิทยา เกตุชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคถลาง ดร.ประจวบ แก้วเขียว ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบกระเช้าและเงินช่วยเหลือ ให้แก่ครอบครัวนักศึกษาสาขาวิชาช่างอากาศยาน วิทยาลัยเทคนิคถลาง ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จำนวน 2 ราย คือ นายอาเดล สะแม ซึ่งขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โดยมี นายมหซัน สะแม บิดา และ นางเสาวนีย์ สะแม เป็นผู้รับมอบ ส่วน นางสาวอรวรรณ จินดารัตน์ รักษาตัวอยู่ที่หอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง โดยมี นางสุจินต์ จินดารักษ์ มารดา เป็นผู้รับมอบ และมี นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายปฐมภูมิโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ให้การต้อนรับและรายงานความคืบหน้าการรักษานักศึกษาสาขาวิชาช่างอากาศยาน ทั้ง 2 ราย ที่ประสบเหตุเครื่องบินเล็กตกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา
นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวถึงอาการของ นายอาเดล สะแม ว่า ยังมีอาการบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส มีเลือดออกในสมองและสมองบวมเลือด คณะแพทย์ต้องให้ยาลดสมองบวม แต่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องทำการผ่าตัด ซึ่งคณะแพทย์ได้ดูแลอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนการบาดเจ็บในส่วนอื่นมีการบาดเจ็บในเรื่องของกระดูกหักหลายจุด ขณะนี้หมอศัลยกรรมกระดูกได้มีการใช้โลหะยึดตรึงกระดูกไว้และมีแผนว่าอีก 1 สัปดาห์หลังจากนี้ จะมีการผ่าตัดเปิดเข้าไปยึดภายในอีกครั้ง โดยขณะนี้ได้ทำการยึดภายนอกก่อนเพื่อให้อาการของนักศึกษาคงที่ก่อน ดยเฉพาะทางด้านสมอง ทั้งนี้อาการล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้มีการตอบสนองดีขึ้นบ้างเล็กน้อย
ส่วนอาการของ นางสาวอรวรรณ ไม่มีอาการบาดเจ็บทางสมอง รู้สึกตัวดี แต่ยังมีกระดูกหลังที่ยุบเล็กน้อยและกระดูกเชิงกรานยุบเล็กน้อย มีกระดูกนิ้วมือที่หักอยู่ แพทย์ได้ทำการใส่เฝือกดามไว้ ซึ่งขณะนี้คณะแพทย์ยังไม่ได้ทำการผ่าตัดยังคงให้ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวและดูแลอาการอย่างใกล้ชิด
ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ในวันนี้ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ให้มาตรวจเยี่ยมในการให้กำลังใจนักศึกษา รวมทั้งแสดงความเสียใจกับผู้ปกครองและผู้ที่เสียชีวิตด้วยซึ่งในวันนี้ได้มามอบทุนให้แก่นักศึกษา 2 รายด้วย ในเบื้องต้นเรื่องค่าใช้จ่ายของนักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บทาง สอศ. จะดูแลทั้งหมด และส่วนหนึ่งมีการประกันด้วย รวมทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้นโยบายว่าให้ยกเว้นค่าเล่าเรียนทั้งหมดของนักศึกษาทั้ง 2 ราย และให้มีการตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ทราบอีกครั้งว่า หลักสูตรที่เปิดขึ้นนี้จะต้องเติมเต็มอย่างไร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีอยู่แล้ว และมีความจำเป็น ในส่วนของเรื่องการประกันชีวิตของนักศึกษา ซึ่ง สอศ. ได้มีการทำประกันชีวิตอยู่แล้วแต่อาจจะเป็นภาพรวมทั้งประเทศ ฉะนั้นจะพิจารณาดูว่าสาขาที่มีความเสี่ยงเช่น ช่างอากาศยาน จะต้องได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการบริหารหลักสูตรจะต้องมีการวางแผนกันต่อไปว่าจะต้องเป็นอย่างไร
ขณะที่ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคถลางอยู่ใกล้กับท่าอากาศยานภูเก็ต และสาขาวิชาดังกล่าวโครงการนำร่องที่มีศักยภาพสูงเป็นการซ่อมอากาศยาน นักศึกษามีอยู่ประมาณ 30 คน และเป็นหลักสูตรที่มีการจองตัวนักศึกษาตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา ดังนั้นความต้องการในเรื่องของอากาศยาน การบินพลเรือน มีความต้องการสูงมาก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องความแปรปรวนของอากาศ เนื่องจากเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งนักเรียนได้มีการเรียนการสอนตามปกติ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการหารือกับทางผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องของความเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้น และจะมีการหารือในภาพรวมทั้งหมดว่าหลักสูตรใดที่มีความเสียงสูง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการประกันความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย
ในส่วน นายมหซัน สะแม บิดา นายอาเดล กล่าวว่า รู้สึกอบอุ่นและขอขอบขอบคุณที่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ให้ความห่วงใยและเห็นความสำคัญของบุตรชาย ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย นั้น สอศ. ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่กับครอบครัว และรู้สึกอุ่นใจที่ทางคณะแพทย์ได้ให้การรักษาและดูแลบุตรชายอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องการยกค่าเล่าเรียนนั้น ตนรู้สึกดีใจและขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นกำลังใจที่ดีให้กับครอบครัว สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่สุดวิสัยจริงๆ และต้องขอขอบคุณอาจารย์และนักบินที่พยายามรักษารักษาชีวิตของนักเรียนไว้
ทั้งนี้ทางครอบครัว มีความเห็นว่าหลักสูตรช่างอากาศยานเป็นโครงการนำร่องที่นักศึกษาเมื่อจบการศึกษาแล้วจะทำให้มีงานทำและเห็นด้วยกับหลักสูตรนี้ โดยบุตรชายมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบิน และเห็นโอกาสที่ดีจึงเลือกเรียนหลักสูตรดังกล่าว