ข่าว

ทนายตั้ม เปิดกฎหมายส่ง ‘กล่องสุ่ม’ ไม่ได้ของ เข้าข่าย พ.ร.บ.การพนัน

ไขข้อสงสัย ทำธุรกิจส่ง “กล่องสุ่ม” แล้วไม่ได้ของ เสี่ยงผิด “กฎหมาย” หลายกระทง เข้าข่ายพระราชบัญญัติการพนัน และอาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค อันเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน

วันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566 “ทนายตั้ม” หรือ “ษิทรา เบี้ยบังเกิด” เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับข้อ “กฎหมาย” การทำธุรกิจส่ง “กล่องสุ่ม” แล้วลูกค้าไม่ได้ของ มีความผิดหลายกระทงตาม พระราชบัญญัติการพนัน และอาจเป็นการฝ่าฝื่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคในการต้องได้รับข้อมูลช่าวสารครบถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อ เกาะติดกระแสดราม่ากรณี “นาราเครปกะเทย” แม่ค้าออนไลน์ท่านหนึ่งถูกโยงหลอกแชร์ลงทุนกล่องสุ่มจนมีผู้เสียหายแฉบนโซเชียลเป็นจำนวนมาก

ทางด้านของ “ทนายตั้ม” ได้ให้ข้อมูลเตือนประชนชนบนเฟสบุ๊คส่วนตัว ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2566 เวลา 18.22 น. โดยข้อความระบุว่า

“ตอนนี้มีประเด็นดราม่ากล่องสุ่มนะครับ เนื่องจากมีหลายท่านที่อยากรวยทางลัด สั่งซื้อกล่องสุ่มที่ผู้ขายอวดอ้างว่า แจกรางวัลเป็นเงิน เป็นทอง หรือของแบรนด์เนม มูลค่าหลายเท่าของเงินที่ซื้อ จนมีผู้หลงเชื่อมากมาย พอสุดท้ายถึงวันครบกำหนด ก็ไม่ส่งของให้ และทยอยคืนเงิน ใครโกรธ ใครทวงก็บอกให้ไปแจ้งความ

ในฐานะนักกฎหมายนะครับ คนขายกล่องสุ่มแบบนี้ ผิดหลายกระทงเลย เพราะอันที่จริงจะขายกล่องสุ่มลุ้นรางวัล ต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานราชการ ไม่งั้นมันจะเข้าข่าย พรบ.การพนัน แล้วยิ่งถ้าขายกล่องสุ่มแบบไม่มีของรางวัลจะแจกจริง หลอกเอาเงินคนอื่น มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โทษจำคุกกระทงละ 5 ปี นับเป็นการกระทำผิดเป็นกรรมๆไปครับ” พร้อมกับคอมเมนต์กล่าวถึง “นอท กองสลากพลัส” โดยมีข้อความระบุว่า

“คุณนอท ไม่เคยทำกล่องสุ่มนะครับ ที่เห็นโฆษณาอยู่ตอนนี้คือมิจฉาชีพ โอนเงินไปก็ไม่ได้อะไรกลับมา อย่าหลงเชื่อกันนะครับ”

ภายหลังที่ทนายตั้มได้โพสต์ข้อความดังกล่าวบนเฟสบุ๊คแล้วทางด้านของ “นอท กองสลากพลัส” หรือ “นอท พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์” ก็ได้มาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของ “ทนายตั้ม” ระบุว่า

“กล่องสุ่มปลอมของผมระบาดหนักมากฝากพี่ตั้ม ช่วยเตือนด้วยได้ไหมครับ”

กฎหมาย ร้องเรียน กล่องสุ่ม นารา

สรุปขาย-ส่ง “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมายไหม

อย่างไรก็ตาม ทีมงาน Thaiger ได้ไปค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกฎหมายการส่งกล่องสุ่มขายในประเทศไทย มีเกณฑ์ว่ากรณีรายการสินค้าบางประเภทมีราคาที่ต่ำหรือสูงกว่ามูลค่ากล่องสุ่ม เช่น กล่องสุ่มราคา 10,000 บาท แต่มีราคาสินค้าข้างในราคาเพียง 20 บาท โดยที่ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ เข้าใจและยินยอมว่า อาจจะได้สินค้าที่มีราคาต่ำหรือสูงกว่า ลักษณะนี้ถูกำหนดให้เป็นการ “ชิงโชค” ซึ่งเข้าข่ายว่าเป็น “การพนัน”

หากเข้าข่ายแล้วว่าเป็น “การพนัน” จะต้องทำการขออนุญาตจาก กรมการปกครอง หรือเจ้าพนักงาน กระทรวงมหาดไทยก่อน จนได้รับอนุญาตและมีการประกาศล่วงหน้าให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ผู้ประกอบธุรกิจจึงจะสามารถขายกล่องสุ่มได้นั่นเองครับ

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีนั้น เมื่อผู้ขายให้สินค้าที่มีมูลค่าเกินกว่าราคาที่จ่าย เฃ่น สินค้าในกล้องมีมูลค่ารวมกัน 10,000 บาท ตามมูลค่ากล่องสุ่ม จะต้องเสียภาษี Vat 7 เปอร์เซ็นต์ ในรอบที่ 1

สำหรับสินค้าที่เหลือเช่น ทอง หรือรถยนต์ ที่มีมูลค่าสูงเกินกล่องสุ่ม จะต้องเสีย Vat อีกหนึ่งรอบ เพราะถือเป็นเรื่องของการชิงโชค รวมถึงผู้ขายจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะถือว่าเป็นการชิงโชค

อีกประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพราะการระบุข้อมูลภายในกล่องสุ่มว่ามีเพียงประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอาง หรือของใช้ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคเ ในสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ มีรายละเอียดว่า

“ตามสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานต้องรู้ว่าสินค้านั้นมีอะไรก่อนจึงจะตัดสินใจซื้อ แต่การเอาของมาใส่ในกล่องโดยไม่มีข้อมูล เป็นกล่องสุ่ม บางทีผู้โฆษณาสินค้าอาจบอกว่ากล่องนี้เอาโทรศัพท์ไอโฟนมาเป็นสิ่งจูงใจ โดยมีกล่องสุ่ม 400-500 กล่อง แต่มีไอโฟนแค่กล่องเดียวอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งในการพิจารณากฎหมายมาควบคุมนั้น สคบ.จะพิจารณาข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วนไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งจะขยายผลไปถึงการดูแลเกี่ยวกับการเสนอขายสินค้าในรูปแบบไลฟ์สด รีวิว ควรจะต้องมีกรอบที่ชัดเจนให้ผู้บริโภคไม่ถูกหลอกลวง และเท่าทันกับยุคดิจิทัลด้วย”

หมายเหตุ : กล่องสุ่ม หรือ “Mystery box” หมายถึง กล่องที่มีการนำสินค้าหลายๆ อย่าง คละแบบ/ราคา ใส่ไว้ในกล่อง และมีการนำมาขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าสินค้าในกล่องมีอะไรบ้าง รู้เพียงราคาของกล่องที่ซื้อว่าเท่าไรเท่านั้น

อ้างอิง : 1

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button