ค่าฝุ่นกทม. ติดอันดับ 5 โลก เกินมาตรฐาน 52 พื้นที่ หนองแขมอ่วมสุด
รายงานดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และมลพิษทางอากาศ เช็คค่าฝุ่น pm 2.5 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 พบ กรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 4 โลก พุ่งสูงถึง 167 มีผลกระทบทุกคน
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันที่ 24 ก.พ. 2566 เวลา 05.00-07.00 น. ตรวจวัดได้ 43-83 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 56.8 มคก./ลบ.ม. ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานจำนวน 52 พื้นที่
ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 45-83 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก. ต่อ ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก. ต่อ ลบ.ม.) จำนวน 52 พื้นที่
โดยเขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสูงสุด 83 มคก. ต่อ ลบ.ม. รองลงมาเป็น เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 : มีค่าเท่ากับ 75 มคก. ต่อ ลบ.ม. , เขตบางบอน ใกล้ตลาดสุขสวัสดี : มีค่าเท่ากับ 71 มคก. ต่อ ลบ.ม.
เขตลาดกระบัง ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบังข้างป้อมตำรวจ : มีค่าเท่ากับ 70 มคก. ต่อ ลบ.ม. และ เขตประเวศ ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ : มีค่าเท่ากับ 67 มคก. ต่อ ลบ.ม.
สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงวันที่ 23 – 24 ก.พ. 2566 การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์อ่อน
ประกอบกับสภาพอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดการสะสมของPM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากนั้น 25-26 ก.พ. 2566 การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ ดีมาก ส่งผลให้เกิดการสะสมของPM2.5 มีแนวโน้มลดลง แต่หลังจากนั้นสภาพอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มเกิดการสะสมของฝุ่นPM2.5 เพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ขณะที่ ระหว่างช่วงวันที่ 25 – 28 ก.พ.66 คาดว่าจะมีมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอก แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นลง ลมหนาวแรงขึ้น (ลมหนาวลงมาคราวนี้ยังไม่มีฝน) ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุม
ควรระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งในระยะนี้ และวันนี้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีเมฆบางส่วน ระหว่างวันที่ 24-25 ก.พ.2566 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 จุด ในวันที่ 23 ก.พ. 2566 เวลา 13.12 น. เขตดอนเมือง.