ข่าวข่าวภูมิภาค

ศูนย์จีโนม เตือน โควิดโอมิครอนรุ่น 3 ประเมินความแรงไม่ได้

ศูนย์จีโนม ออกโรงเตือนทั่วโลกเตรียมเผชิญ โควิดโอมิครอนรุ่น 3 ลูก หลาน เลน BA.5 ล่าสุดยังประเมินความรุนแรงยังไม่ได้

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานผ่านเฟซบุ๊กถึงโควิดโอมิครอนรุ่น 3 ซึ่งลูก หลาน และเหลนของโควิดโอมิครอน BA.5 ล่าสุดยังไม่สามารถประเมินความรุนแรงได้

Advertisements

ทางศูนย์จีโนมระบุว่า “ย้อนหลังไป 1 ปีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแจ้งชื่อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใหม่ “B.1.1.529” ตามอักษรกรีกว่า “โอมิครอน” ตามคำแนะนำของกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไวรัส (TAG-VE) ขององค์การอนามัยโลก จากหลักฐานที่ว่า “โอมิครอน” มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งโดยเฉพาะส่วนโปรตีนหนามที่อาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว (กว่าสายพันธุ์เดลตา) อาจมีผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

จากนั้นเพียง 4 สัปดาห์ นักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศก็ได้พบ “โอมิครอน” ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ “เดลตา” แต่โชคดีที่โรคโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนมีอาการความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าสายพันธุ์เดลตามาก

ต้นปี 2565 โอมิครอน (B.1.1.529) เริ่มมีการกลายพันธุ์เกิดเป็นโอมิครอนรุ่นแรก (first generation omicron variants) ทยอยระบาดแทนที่กันมาเป็นลำดับตั้งแต่ BA.1, BA.2, BA.4, และ BA.5 ที่ระบาดอยู่ขณะนี้ (ปลายปี 2565)
(ภาพ1)

ตั้งแต่ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาโอมิครอน BA.5 เริ่มอ่อนกำลังการระบาดและลดจำนวนลง โลกก็ได้พบกับโอมิครอนรุ่นสอง (second generation omicron variants) เป็นกลุ่มโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย (A soup of omicron subvariants) ซึ่งเป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลนของ “BA.2” เช่น BA.2.75, BN.1, CH.1.1, BQ,1, BQ.1.1, BF.7 อุบัติขึ้นมา
(ภาพ2)

ในเวลาไล่เลี่ยกันหลายประเทศได้พบกับไวรัสลูกผสม (recombinant variant) ในสองลักษณะ
1. ระหว่างโอมิครอนต่างสายพันธุ์ ที่สามารถเพิ่มตำแหน่งการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าการกลายพันธุ์ด้วยตนเองของแต่ละสายพันธุ์ โดยเฉพาะบริเวณส่วนโปรตีนหนามเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและการติดเชื้อจากธรรมชาติได้เหนือกว่าบรรดาโอมิครอนรุ่นสอง
I. โอมิครอนลูกผสมสองสายพันธุ์ “XBB” เป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอน BJ.1 และ BA.2.75*
II. โอมิครอนลูกผสมสองสายพันธุ์ “XBD” เป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอน BA.2.75 และ BA.5.2.1 และ
III. โอมิครอนลูกผสมสองสายพันธุ์ “XBF” เป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอน BA.5.2.3 และ BA.5.2.1
(ภาพ3)

Advertisements

2. ระหว่างสองสายตระกูล “เดลตา” และ “โอมิครอน BA.2” ที่เรียกขานกันว่า “เดลตาครอน” พบไม่มากในประเทศฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เกาหลีใต้, ออสเตรีย ฯลฯ กล่าวคือ XAY,XBA,XBC, และ XAW
(ภาพ4)

ผู้เชี่ยวชาญตั้งสมมติฐานว่าลูกผสมจากสองสายตระกูลเหล่านี้เกิดจากผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเดลตาเรื้อรังแล้วมาติดเชื้อซ้ำด้วยสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 เกิดการแลกเปลี่ยนส่วนของจีโนมในร่างกายของผู้ติดเชื้อรายเดียวกันเกิดเป็นลูกผสมระหว่าง เดลตา และโอมิครอน

XAY และ XBC ยังคงหมุนเวียนอยู่ในหลายประเทศ แต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสองตระกูลเหล่านี้แพร่ระบาดได้ไม่ดีนัก อันอาจเนื่องมาจากยีนสร้างโปรตีนหนามได้มาจากโอมิครอน BA.2 เกือบ 100% ต่างจากโอมิครอนต่างสายพันธุ์ เช่น“XBB” ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากส่วนหนามมาจากโอมิครอนลูกผสมสองสายพันธุ์ คือ BJ.1 และ BA.2.75* ที่เสริมประสิทธิภาพการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติได้ดีกว่าเดลตาครอน แต่ก็ยังมีข้อที่น่ากังวลใจที่เดลตาครอนเป็นสายพันธุ์มียีนก่อโรครุนแรงของสายพันธุ์เดลต้าอยู่ด้วย
(ภาพ3-4)

โอมิครอนลูกผสม XBB และ XBB.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าโอมิครอนรุ่นที่สองทุกสายพันธุ์ในปัจจุบัน(BA.2.75, BN.1, BQ,1, BQ.1.1, BF.7) ยกเว้นเพียงสายพันธุ์เดียวคือ CH.1.1 ซึ่งมีต้นตระกูลมาจาก BA.2 พบในประเทศออสเตรีย, ออสเตรเลีย, อังกฤษ ฯลฯ
(ภาพ5)

ปีหน้า 2566 คาดว่าทั่วโลกอาจมีโอกาสได้เห็นโอมิครอนรุ่นสาม (third generation omicron variants) เป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยซึ่งเป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลนของ “BA.5” ซึ่งยังไม่อาจคาดคะเนได้ว่าจะมีอาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัดหรือก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง (severe) จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเหมือนในช่วงที่เดลตาระบาดจนองค์การอนามัยโลกต้องให้อักษรกรีกที่จะใช้กับไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ก่อโรครุนแรงตัวถัดจากโอมิครอนคือ π (พาย/Pi) หรือไม่
อนึ่งการที่มีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยซึ่งเป็นรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลนของ “BA.2” ระบาดขึ้นมาก่อนเพราะ BA.2 มีการระบาดกลายพันธุ์มาก่อน BA.5 ตั้งแต่ต้นปี 2565

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button