ประวัติ ‘จุมพล มั่นหมาย’ อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง เพื่อนร่วมรุ่น ‘ทักษิณ’
ประวัติ จุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง เพื่อนร่วมรุ่น ทักษิณ ชินวัตร มีประวัติผลงานคดีดังอย่างเพชรซาอุฯ เป็นต้น
พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย อายุ 72 ปี อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง และอดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสียชีวิต ด้วยอาการปอดติดเชื้อที่โรงพยาบาลศิริราช
สำหรับประวัติของ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย นั้น พล.ต.อ.จุมพล เกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2493 ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จบระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรุ่นที่ 82
โรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 34 , โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่นที่ 26 รุ่นเดียว ซึ่งเป็นเป็นรุ่นเดียวกันกับ นาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ศึกษาเพิ่มเติม สาขาพัฒนาบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
สำหรับเส้นทางการรับข้าราชการของ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เริ่มต้นจากการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่อำเภออรัญประเทศ ก่อนที่จะย้ายเข้าสู่พื้นที่นครบาล ในตำแหน่ง สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ (สวป.สน.บางซื่อ) จากนั้นย้ายไปอยู่กองปราบปราม จนเป็นรองผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.)
หลังจากได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจตรี (พล.ต.ต.) แล้วจุมพล มั่นหมายเลื่อนจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผช.ผบช.ภ.1) และได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจโท (พล.ต.ท.) แล้วเลื่อนเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3)
บิ๊กจุ๋ม หรือ พล.ต.อ.จุมพล ได้ทำคดีใหญ่ๆและคดีสำคัญที่ปรากฎเป็นข่าวมากมายเช่น คดีเพชรซาอุ คดีฆ่า 2 แม่ลูกครอบครัวศรีธนะขันธ์ หรือ คดีสังหารนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.)
พล.ต.อ.จุมพล ถูกคาดเดาว่าอจจะได้ก้าวขึ้นมาเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในช่วงรัฐบาลของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ท้ายที่สุด นาย อภิสิทธิ์ ก็เลือกจะเสนอ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ แต่เนื่องจาก ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ จึงแต่งตั้ง พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยาวนานกระทั่งเกษียณอายุราชการ ควบคู่กับจุมพล
พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ตกเป็นข่าวฉาวในปี 2560 หลัง ศาลจังหวัดนครราชสีมา ตัดสินให้จำคุกนายจุมพล ความผิดฐานบุกรุกป่า 2 ปี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โทษจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 6 ปี แต่นายจุมพล รับสารภาพ จึงลดโทษเหลือ 3 ปี และมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่พิพาทออกไป และให้ชดใช้ความเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 892,302 บาท วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ถอดยศตำรวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดพล.ต.อ.จุมพล ออกจากยศตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ