อพท. เปิดฟังความเห็น กระเช้าไฟฟ้า ขึ้นภูกระดึง บางส่วนคัดค้าน-บางส่วนเกรงปัญหาขยะ
เลย อพท. เปิดรับฟังความคิดเห็น กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภู่กระดึง พบชาวบ้านบางส่วนคัดค้าน และบางส่วนกลัวกระทบเรื่องขยะ
จังหวัดเลย ร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย พ.ศ. 2565 ที่โรงแรมเลยพาเลซ โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดการประชุม ร่วมกับ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เป็นประธานเปิด
สำหรับการประชุมรับฟัง ครั้งนี้เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ข้อมูลของโครงการฯตั้งแต่ต้น และเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานศึกษาของโครงการฯ จากภาคีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาโครงการฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมทั้งที่โรงแรมเลยพาเลซและผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 300 คน
นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (อพท.5) ได้กล่าวถึงโครงการการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย พ.ศ.2565 ว่า อพท. ได้สนับสนุนงบประมาณตามที่จังหวัดเลยประสานมา โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยบูรพาร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินงานในการทบทวนข้อมูลตามผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง
ที่ อพท. ดำเนินการในช่วงปี 2557-2558 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการศึกษาที่ อพท. เสนอไว้แล้ว เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ในมติครั้งนั้น ได้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ ซึ่งต่อมาในขั้นตอนการพิจารณาได้มีผลสรุปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยพิจารณามอบหมายหน่วยงานภายในจังหวัดเลยเป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการฯ และนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อมีการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เห็นควรให้มีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมขณะที่ศึกษา และให้มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระเบียบที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การดำเนินโครงการในครั้งนี้ อพท. เห็นถึงความสำคัญของโครงการ และความต้องการของจังหวัดเลย จึงจัดงบประมาณสนับสนุนเพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบของจังหวัดเลยดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปในการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งจะเป็นการศึกษาทบทวนความเหมาะสม (Feasibility Study) ด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ รูปแบบโครงการ พร้อมกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการของรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้สามารถหาข้อสรุปในการดำเนินโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ในสภาพปัจจุบัน
ทั้งนี้ อพท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคุณค่าความเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงผลกระทบต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และทัศนียภาพ ให้มีน้อยที่สุด กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีการออกแบบใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เสริมสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และจะมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยว
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การลดจำนวนการค้างแรมในพื้นที่ยอดภูกระดึง ให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการใช้จัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติหลายแห่งในระดับสากล กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกในการเดินทางขนส่งนักท่องเที่ยว
แต่ยังคงสร้างรายได้ให้แก่ลูกหาบในการขนสัมภาระผ่านระบบกระเช้าแทนการแบกสัมภาระตามทางเดิน รวมทั้งเปิดโอกาสการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มผุ้สูงอายุ และนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดในการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูกระดึง ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งมวล โดยมีลูกหาบที่ปรับเปลี่ยนจากการหาบสัมภาระเป็นผู้บริการการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามแม้จะมีการพัฒนากระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง แต่ยังคงให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของการเดินเท้า โดยแนวกระเช้าและแนวทางเดินจะแยกออกจากกัน ไม่รบกวนกัน
นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เกิดขึ้นจากแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ต่อมาได้มีการศึกษามาแล้ว 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2527, 2541 และโดย อพท. เมื่อปี พ.ศ.2557
เป็นโครงการหนึ่งที่เป็นที่สนใจและชาวจังหวัดเลยจำนวนมากมีความต้องการและสนับสนุนเนื่องจากจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเลยและจังหวัดข้างเคียงโดยรอบ จังหวัดเลยมีหนังสือถึง อพท.
เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาครั้งนี้ จึงถือว่าจังหวัดเลยและ อพท. จะเป็นเจ้าภาพร่วมกันในงานดำเนินการศึกษา โดยขอให้หน่วยงาน องค์กร ภาคเอกชน และภาคประชาชน
รวมถึงกลุ่มภาคีต่าง ๆ ได้ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการศึกษาดำเนินงานศึกษา โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงในครั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงการที่จะดำเนินการ หรือ ไม่ดำเนินการ โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง
และเพื่อจังหวัดเลยจะสามารถดำเนินการในการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบก็จะเข้าสู่การพัฒนาโครงการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้าน นายวันชัย พลซา ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย กล่าวว่า จริงๆแล้วนะวันนี้ยังไม่ควรสร้าง ด้วยว่าจังหวัดเลยนั้น ระบบการขนส่งมวลชนและการจัดการขยะยังไม่ดีพอและการศึกษาผลกระทบยังไม่มีอะไรชัดเจนออกมาเลย อีกทั้งเรื่องปัญหาขยะที่ โคกช้างไห้ (หลุมขยะเทศบาลเมืองเลย) ที่จะมีผลกระทบระยะยาว ยังไม่สามารถจัดการได้ ยังกองและยังไม่ได้กำจัดเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง และมีคนขึ้นไป คงไม่มีใครไปนอนภูกระดึงมีน้อย แต่ก็จะเดินทางมาเชียงคาน นั้นก็หมายความว่าขยะก็จะทะลักเข้ามาเชียงคานและอำเภอเมือง และอำเภออื่นๆ ซึ่งจังหวัดเลยเองยังไม่มีศักยภาพเพียงพอและการจัดการเรื่องขยะเหล่านี้
นายอดิสร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องตอบเป็นกลางๆ ว่า มีข้อดีและข้อเสียในด้านการท่องเที่ยว ที่จะให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว การสร้างกระเช้าก็เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว มีการท่องเที่ยวมากขึ้นในอุทยานฯ มีโอกาสในการเพิ่มรายได้ในการท่องเที่ยว และไม่ถึงกับเห็นด้วย เพราะต้องใช้เวลาอีกยาว ในการศึกษาเรื่องนี้ เพราะเป็นคนกลาง เจ้าของพื้นที่
- ครม. เห็นชอบ เสนอ ภูกระดึง ภูเขียว-อุทยานน้ำหนาว ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน
- สาวขนลุก ขึ้น ภูกระดึง น้องสาวแอบเก็บ ใบเมเปิ้ล เจอดีจนต้องรีบส่งคืน
- ขึ้นเขา แต่ดันตกหลุมรัก สาวที่ภูกระดึง หนุ่มโพสต์หา หวังสานสัมพันธ์ แต่เฉลยทำจี๊ดใจ