13 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ

ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 วันคล้ายวันประสูติของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ อดีตพระวรชายาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (เดิมคือ หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ปัจจุบันมีพระชนมายุ 65 พรรษา อดีตพระวรชายาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสรยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร
พระนามโสมสวลี แปลว่า ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระจันทร์ เป็นพระนามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา เมื่อปี พ.ศ. 2504 เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พระองค์ก็ทรงลาออกจากโรงเรียนเดิม และย้ายไปประทับที่เชียงใหม่โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี พระองค์ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะหนึ่ง เมื่อย้ายกลับมาที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาจึงได้ย้ายมาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนราชินี เมื่อพระองค์สำเร็จการศึกษาระดับ ม.ศ. 2 พระองค์ก็ขอออกมาศึกษาวิชาที่พระองค์ชอบ

อภิเษกสมรส
เมื่อครั้งที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ พระองค์มีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ถือเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา เนื่องจากอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชธิดาพระองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
ในปี พ.ศ. 2534 หลังจากการหย่า พระองค์ยังคงสถานะเป็นเจ้านายและได้รับการเฉลิมพระนามว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ” ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ กับความชอบส่วนพระองค์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ชื่นชอบงานหัตถกรรมมาก เช่น การร้อยพวงมาลุย, การจัดดอกไม้ และการเย็บปักถักร้อย ทั้งยังโปรดการเล่นเครื่องดนตรี คือ กีตาร์ และเปียโน นอกจากนี้ยังสามารถทรงเครื่องดนตรีไทยได้เช่นกัน อาทิ ระนาดเอก และฆ้องวง ทั้งนี้ทรงมีพื้นฐานด้านการเต้นบัลเลต์, การเต้นลีลาศ และศิลปะการแสดง แต่สิ่งที่พระองค์ชื่นชอบที่สุดคือ การประกอบอาหาร เมื่อปี พ.ศ. 2553 ช่วงมหาอุทกภัย พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ก็ทรงประกอบอาหารแจกจ่ายไปยังประชาชนที่ประสบภัยในจังหวัดนครราชสีมา และหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงทอดไก่ประทานแก่ประชาชนที่มาร่วมถวายสักการะพระบรมศพด้วยพระองค์เอง
พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เคยแสดงละครโทรทัศน์ เรื่อง ขุนช้างขุนแผน และ รักเร่ และเป็นนักแสดงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง น้ำผึ้งขม ทั้งแสดงละครเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในบางวาระ นอกจากนี้พระองค์เคยแสดงละครเวทีสองเรื่อง ได้แก่ รักษาป่า, เกาะสวรรค์, ซูสีไทเฮา เดอะ มิวสิคัล และม่านประเพณี

พระราชกรณียกิจ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆโดยการเสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพระกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระเจ้านายพระองค์อื่น จนพระราชกรณียกิจลุล่วงด้วยดี
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ รศ.ดร.นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร เป็นผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพ 3,000 ถุง ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ประเทศญี่ปุ่น
มูลนิธิ หน่วยงาน และโครงการในพระอุปถัมภ์
พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงมีความสนพระทัยด้านสังคมสงเคราะห์ และการสาธารณสุข ทรงจัดตั้งมูลนิธิ โครงการส่วนพระองค์หลายโครงการ ได้แก่
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในพระบรมราชูปถัมภ์มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา
มูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของศาลเยาวชนและครอบครัว
มูลนิธิบ้านบางแค
มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย
มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก ของศาลเยาวชนและครอบครัว
มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง
มูลนิธิธรรมจารินีวิทยา
มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของศาลเยาวชนและครอบครัว
โครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก สภากาชาดไทย
โครงการคืนชีวิตให้พ่อแม่เพื่อลูกน้อยที่ติดเอดส์
กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุ สำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย
กองทุนนมสำหรับเด็กในโครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก
กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี
สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย
สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่
สมาคมพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย
สภาแม่ดีเด่นแห่งชาติ
โรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา
วัดหนองน้ำขุ่น อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
อ้างอิง : 1
- ‘พระองค์โสม’ และ ‘เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา’ พระราชทานเงินแก่ 9 รพ. ต่อสู้โควิด-19
- วันหยุดเดือนกรกฎาคม 2565 วันหยุดธนาคาร ดูก่อนไปกดเงินเสียเที่ยว ที่นี่
- วันหยุดราชการเดือนกรกฎาคม 2565 เช็กอีกสักที เดือนนี้เตรียมจัดทริปเที่ยวไว้เลย