‘เท่าพิภพ’ รับหนังสือกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า-ประชาชนเบียร์’ ผลักดันสภารับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฯ
ก้าวแรกปลดล็อก ทลายทุนผูกขาด สานฝันอนาคตสุราไทย “เท่าพิภพ” รับหนังสือกลุ่ม “ทะลุฟ้า-ประชาชนเบียร์” ผลักดันสภารับร่าง “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฯ”
สภาเพิ่งมีมติส่งร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ ร่าง พ.ร.บ. #สุราก้าวหน้า ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน 60 วัน ก่อนนำมาพิจารณาใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 207 : 196 เสียง ซึ่งอาจทำให้ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะได้กลับเข้ามาพิจารณาในสภาอีกครั้งในสมัยประชุมหน้า
“เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ส.ส.กทม. เขต 22 พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ…. กล่าวว่า ผลการลงมติออกมาอย่างฉิวเฉียด ตนขอขอบคุณทุกเสียงในสภาที่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล และหวังว่า รัฐบาลจะเชิญตนไปร่วมชี้แจงเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ด้วย และขอให้ทุกคนติดตามเชียร์กันต่อไป เพราะหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะเป็นก้าวแรกของการปลดล็อกเบียร์และสุราพื้นบ้านให้ประชาชนได้มีโอกาสผลิตสุรา จากวัตถุดิบในพื้นที่ เป็นการยกระดับและสร้างรายได้ให้ประชาชน
ตั้งแต่เช้าของวันนี้ (9 ก.พ.65) ตัวแทนกลุ่ม ทะลุฟ้า – thalufah และ ประชาชนเบียร์ ซึ่งประกอบไปด้วยประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ค้าสุรา และเจ้าของสถานประกอบการ เดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้สภารับหลักการร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า และให้รัฐบาลถอดถอนญัตติขอการอุ้มร่างกฎหมายออกไป เพื่อเป็นก้าวแรกในการปลดล็อกกฎหมาย ทลายทุนผูกขาด และเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงการผลิตได้
ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีผลิตอาหาร ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ตนรู้จักผู้ประกอบการสุราชุมชนทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นผู้ให้ความรู้ในการพัฒนาสุราชุมชน ซึ่งสุราชุมชนถูกจำกัดอยู่ที่ 5 แรงม้า และคนงานไม่น้อยกว่า 7 คน การที่จะผลิตสุราชุมชนที่มีคุณภาพจะต้องอาศัยกำลังผลิตเครื่องมือ เครื่องจักรที่เพียงพอ มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ มีการพัฒนาที่สากลยอมรับ เช่น รัม วอดก้า แต่ปัจจุบันสุราชุมชนที่อนุญาตไม่ได้เป็นโรงงานทำได้เพียงสุราขาว ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ชุมชนผลิตจะระบุเสมอว่า ทำแล้วคุณภาพไม่ดี การที่เราไม่สามารถผลิตเท่าเทียมต่างประเทศได้เพราะข้อจำกัดตรงนี้ หากใครจะทำสุราที่มีคุณภาพ จะต้องมีกำลังผลิตอย่างน้อย 9 หมื่นลิตรต่อวัน ซึ่งต้องใช้ทุนมหาศาล ซึ่งชาวบ้านมีวัตถุดิบทางธรรมชาติที่สามารถทำสุราที่มีคุณภาพได้ อาทิ อ้อย ลำไย ลิ้นจี่ ซึ่งในต่างประเทศไม่มี เมื่อนำสุราประเภทนี้บ่มกับไม้โอ๊คจะได้สุราที่ดีกว่าวิสกี้ ในต่างประเทศ
ด้าน ณิกษ์ อนุมานราชธน กล่าวในฐานะผู้ประกอบการค็อกเทลบาร์และสุราชุมชนว่า ในส่วนค็อกเทลบาร์มีปัญหาที่ไม่สามารถเอาค็อกเทลที่ผสมไว้ใส่ขวดและขายให้นำกลับบ้านได้ เพราะมีเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่กฎหมายห้ามไว้อยู่ ส่วนทางสุราชุมชนก็คือ เรื่องของ กำลังผลิตที่จำกัดไว้ 5 แรงม้า 7 แรงคน ที่เราไม่สามารถขยายฐานหรือเพิ่มความสามารถในการผลิตให้สุรามีคุณภาพยิ่งขึ้นเพื่อไปเเข่งขันในตลาดได้
ขอบคุณข้อมูล : พรรคก้าวไกล – Move Forward Party