สุขภาพและการแพทย์

วันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ สปสช. ชวนคนไทยคัดกรอง 3 มะเร็งร้าย

วันมะเร็งโลก สปสช. เปิดตรวจคัดกรองมะเร็ง 3 รายการ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งช่องปาก ชวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกสิทธิรับบริการ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งราว 20 ล้านคน เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญ สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UICC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) จึงกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันมะเร็งโลก” หรือ “World Cancer Day”

Advertisements

สถานการณ์โรคมะเร็งของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับทั่วโลก จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวน 139,206 คนต่อปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 84,073 คน ด้วยมะเร็ง บางชนิดสามารถรักษาได้หากตรวจพบในระยะแรกเริ่ม

ดังนั้นภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” นอกจากบริการรักษาโรคมะเร็งแล้วในปีงบประมาณ 2565 สปสช.ได้ขับเคลื่อนเชิงรุกในการให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งที่พบมากในประชากรกลุ่มเสี่ยง ภายใต้สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนี้

บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สาเหตุเกิดจากเชื้อเอชพีวี ตรวจพบสูงเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย แต่รักษาให้หายได้หากตรวจพบในระยะแรก โดยหญิงไทยทุกสิทธิ อายุ 30-59 ปี และอายุ 15 – 29 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน เป็นต้น เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ ด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ ตรวจและจี้ด้วยน้ำส้มสายชู (VIA)

หรือ ตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA Test ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง โดย มีสิทธิรับบริการตรวจคัดกรองได้ 1 ครั้ง ทุกๆ 5 ปี โดยในปีงบประมาณ 2565 มีเป้าหมายบริการจำนวน 3,039,954 คน หรือร้อยละ 20 ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็งปากมดลูก สปสช. ได้ให้สิทธิประโยชน์แก่เด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.5 ทุกคนทั่วประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวี

บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง พบมากในประชากรไทยสูงเป็นอันดับที่ 4 หากตรวจพบระยะเริ่มแรกการรักษาก็จะได้ผลดี ในปี 2561 สปสช.บรรจุสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ โดยให้สิทธิแก่ประชาชนอายุ 50–70 ปี ได้รับการตรวจด้วยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT Test) จำนวน 1 ครั้ง ทุกๆ 2 ปี

Advertisements

หากผลตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและการเนื้อเยื่อส่งตรวจ โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายบริการ 1,727,030 ราย หรือร้อยละ 10 ของประชากรเป้าหมาย

บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ที่บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิ ได้รับบริการคัดกรองปีละ 1 ครั้ง โดยในปี 2565 มีเป้าหมายบริการจำนวน 2,212,898 คน หรือร้อยละ 30 ของกลุ่มเป้าหมาย ใช้งบประมาณราว 29.21 ล้านบาท ทั้งนี้มะเร็งในช่องปากที่ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดหากตรวจพบและรักษาในระยะเริ่ม

นอกจากนี้ สปสช. อยู่ในระหว่างการศึกษาประสิทธิผลและความคุ้มค่า เพื่อพิจารณาบรรจุการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ได้หมั่นตรวจคลำเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติ ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้บ้าน

สปสช ตรวจมะเร็ง

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button