GISTDA เผย น้ำมันรั่ว มาบตาพุด ขยายแล้ว 47 ตร.กม.
GISTDA เปิดเผยภาพถ่ายจากดาวเทียม อัปเดตความคืบหน้าเหตุ น้ำมันรั่ว เผยขยายวงกว้างแล้ว 47 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 9 เท่าของเกาะเสม็ด
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพลงเฟซบุ๊ก เพื่ออัปเดตความคืบหน้าของเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่มาบตาพุด ที่ จ.ระยองนั้น ทาง GISTDA เผยว่าแผ่ขยายแล้วกว่า 47 ตร.กิโลเมตร
โดยข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า “หลังท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลบริเวณอ่าวมาบตาพุด จ.ระยอง เกิดการรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร ส่งผลให้มีคราบน้ำมันกระจายกลางอ่าวไทย ตั้งแต่คืนวันที่ 25 มกราคม 2565 นั้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ใช้ภาพจากดาวเทียม TerraSAR-X ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 18.23 น. เพื่อติดตามคราบน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบคราบน้ำมันลอยแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม (กรอบสีแดง) คิดเป็นพื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร (29,506 ไร่) หรือกว่า 9 เท่าของเกาะเสม็ด และมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (จากจุดเดิม) ซึ่งคราบน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยอง ประมาณ 6.5 กิโลเมตร และห่างจากเกาะเสม็ด ประมาณ 12 กิโลเมตร และคาดว่าคราบน้ำมันจะขึ้นฝั่งในวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 (จุดสีน้ำเงิน และสีส้ม) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง
โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์ ทาง GISTDA จะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้วางแผน ติดตาม ตรวจสอบในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ การประเมินคราบน้ำมันจากภาพถ่ายดาวเทียมระบบ SAR (X-Band) เป็นการประมาณจากขอบเขตพื้นที่ ส่วนปริมาตรของน้ำมัน (ความหนาของชั้นน้ำมัน: Oil Thickness) อาจต้องใช้ข้อมูลจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง
ปัญหาภัยพิบัติและมลพิษทางทะเล ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศมาโดยตลอด ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น”