ข่าวข่าวภูมิภาค

กรมการแพทย์ แจงเหตุ หนุ่มภูเก็ต ผมร่วง หลัง ฉีดวัคซีนโควิด

กรมการแพทย์ ออกมาชี้แจงหลังจากที่ หนุ่มภูเก็ต วัย 19 ปี ผมร่วง หลัง ฉีดวัคซีนโควิด ชี้ วัคซีนชนิดอื่นก็เกิดขึ้นได้ แต่ยังต้อรอผลการศึกษา พร้อมแนะวิธีรักษา

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ออกมากล่าวกรณีของ นักศึกษาชายชาวภูเก็ตที่ผมร่วง หลังรับวัคซีนโควิด และกลายเป็นที่ฮือฮาก่อนหน้านี้ นพ.มานัส ระบุว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อมพบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่ศีรษะ โดยอาจจะมีขนร่วงที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น คิ้ว หนวด จอนหรือขนตามร่างกาย ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการผมร่วงทั่วศีรษะหรือขนตามร่างกายร่วงจนหมด โรคนี้ไม่มีสาเหตุแน่ชัด

นพ.มานัส กล่าวต่อว่า จากข้อมูลทางวิชาการเชื่อว่าอาจเกิดจากการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายร่วมกับการเสียการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์เกี่ยวข้อง หรือร่างกายถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยบางอย่าง เช่น ความเครียดจากภาวะการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารสื่อประสาทที่บริเวณต่อมผม ส่งผลต่อการสร้างผมผิดปกติและวงจรชีวิตของผมเปลี่ยนจากระยะเจริญเติบโตเป็นระยะหลุดร่วงได้เร็วขึ้น

“ส่วนภาวะผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากวัคซีนมีกระบวนการเลียนแบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบที่บริเวณต่อมผมและมีผลทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้” นพ.มานัส กล่าว

ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ภาวะผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 อาจเกิดขึ้นได้ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องรอผลการศึกษามากกว่านี้ในเรื่องอุบัติการณ์หลังจากการฉีดวัคซีน ในปัจจุบันมีการศึกษาผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่กลับมาเป็นซ้ำหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 และมีความเป็นไปได้ถึงการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถเกิดขึ้นใหม่หรือผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นอยู่แล้วและจะมีอาการมากขึ้นหลังฉีดวัคซีน อ่านข่าว : ผมร่วงหมดหัว! นศ.เศร้าหลังฉีดเข็ม 2 แพ้วัคซีน-เป็นโรคพุ่มพวง วอนรับผิดชอบ

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า โดยจะคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่มีภาวะผมร่วงหลังจากมีการติดเชื้อโควิด 19 แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวมากพอที่จะสรุปผลได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจเกิดภายหลังจากการฉีดวัคซีนอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น วัคซีนงูสวัด, วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมร่วมด้วย เช่น ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ความเครียด การเจ็บป่วย โรคภูมิแพ้ โรคไทรอยด์ โรคลูปัส ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก และภาวะการขาดวิตามินดี

“ผู้ที่มีภาวะผมร่วงเป็นหย่อมเพียงเล็กน้อย อาการผมร่วงอาจหายได้เองหรือสามารถรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้วยการทายาสเตียรอยด์หรือฉีดยาสเตียรอยด์ที่ศีรษะร่วมกับการทายาไมน็อกซิดิล 2-5% วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นผมให้ขึ้นใหม่ ส่วนการรับประทานเหล็กและวิตามิน เช่น สังกะสี, ไบโอติน, วิตามินดี ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการชัดเจนว่าจะมีส่วนช่วยรักษา แต่อย่างไรก็ตามหากอาการผมร่วงไม่ดีขึ้น มีผมร่วงทั่วศีรษะหรือมีขนตามร่างกายร่วงด้วย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง” พญ.มิ่งขวัญ กล่าว

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button