ข่าวข่าวภูมิภาค

‘สาธิต’ รับ ผู้ป่วยโควิดตกค้าง กว่า 600 คน เสนอสี่มาตรการกู้วิกฤติ

สาธิต ปิตุเตชะ ออกมาให้สัมภาษณ์หลังเข้าเยี่ยมเจ้าหน้าที่แพทย์ ยอมรับว่าสถานการณ์ในขณะนี้วิกฤติ ผู้ป่วยโควิดตกค้าง กว่า 600 คน

นาย สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ หลังตรวจเยี่ยมแผนกฉุกเฉิน พร้อมให้กำลังใจผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ราชวิถี ว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการพบว่า รพ.ราชวิถียังดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของผู้ป่วยโควิด 19 ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เจ็บป่วยทั่วไป หรือผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ามา แต่ยอมรับว่าบุคลากรเองก็มีความอ่อนล้าเต็มที่

โดยนาย สาธิต ยอมรับว่า สถานการณ์วันนี้การรับผู้ป่วยโควิดมีปัญหามาก กลับมาเห็นภาพผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างรอเตียงที่บ้านจำนวนมากใกล้เคียงกับคราวก่อน โดยมีตกค้างในระบบประมาณ 600 คน และยังมีนอกระบบที่ยังไม่ได้แจ้งอีก และเริ่มอาจเห็นการเสียชีวิตที่บ้านแล้ว เพราะฉะนั้น ในส่วนของปลายทางคือการรักษามีผลกระทบมาก

นายสาธิต กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาเรื่องต้องอาศัย 4 เรื่อง ทำควบคู่กัน คือ 1.มาตรการต้องกลับมาเข้มข้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ทัน โดยเฉพาะการป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติ เนื่องจากขณะนี้ยังพบแรงงานต่างชาติเข้ามาในแคมป์คนงานใหม่

2.การส่งสัญญาณของรัฐบาลเพื่อสื่อสารกับประชาชนว่าสถานการณ์วิกฤตแล้ว ต้องร่วมมือช่วยกันควบคุมป้องกันโรคไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

3.การฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่ง กทม.และปริมณฑล ขณะนี้ฉีดทั้งใน 2 กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งมีข้อเสนอว่าตอนนี้ต้องมาฉีดใน 2 กลุ่มเสี่ยงเท่านั้นเพื่อลดการป่วยรุนแรงเข้ารพ. ซึ่งในกทม.มี 2 กลุ่มนี้ลงทะเบียนประมาณ 5 แสนคนใน ก.ค. ก็ต้องพยายามฉีดแอสตร้าเซนเนก้าให้ครบโดยเร็วที่สุด ตามศักยภาพการฉีด และเมื่อวัคซีนมีจำนวนมากพอก็ฉีดกลุ่มอื่นพร้อมกัน แต่ขอให้โฟกัสในพื้นที่ระบาด จุดที่เป็นคลัสเตอร์ ซึ่ง สธ.เสนอยุทธศาสตร์ขนมครก ไปเจาะในคลัสเตอร์และชุมชนโดยรอบ

และ 4.การเปิดเตียงไอซียูสนามเพิ่มเติม ซึ่งจะเปิดทั้งในส่วนของ รพ.เอกชน และโรงเรียนแพทย์ คือ ม.ธรรมศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และวชิรพยาบาล ประมาณ 50 เตียงภายใน 7 วัน และต้องหาบุคลากรทางการแพทย์มาเพิ่มเติมด้วย

“ได้เรียนนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.กทม.แล้วว่า ปลายทางการรักษาเริ่มมามีปัญหาในการรับผู้ป่วย ถ้าไม่ทำอะไร จะมีผู้ป่วยตกค้างรอเตียงจำนวนมาก และอาจเสียชีวิต จึงต้องดำเนินการมาตรการทั้ง 4 เรื่องไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะช่วยปลายทางการรักษา ช่วยให้การทำงานของแพทย์และพยาบาลดีขึ้นตามลำดับ การเจ็บป่วยและผู้ป่วยก็จะเริ่มลดลง โดยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์” นายสาธิต กล่าว

รมช.สธ. กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอมาตรการใหม่เรื่อง Home Isolation โดยให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวกักตัวที่บ้าน และมีมาตรการติดตามอาการในแต่ละวัน มีระบบเทคโนโลยีติดตามตัวว่าอยู่ภายในบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่ง สธ.มีแผนรองรับแล้ว ซึ่งผมได้เสนอนายกฯ ไปก่อนบ้างแล้ว และวันนี้ทางคณบดีแพทย์ต่างๆ อธิบดีกรมการแพทย์จะหารือเพื่อเสนอนายกฯ เข้าสู่การพิจารณาของ ศบค.กทม.ในการตัดสินใจ หากเห็นชอบก็ดำเนินการได้ ซึ่งในเรื่องของการรักษาทาง สธ. กรมการแพทย์สนับสนุนอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อมีปัญหาวันนี้ก็ต้องเสนอมาตรการ

 

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button