ข่าวภูมิภาค

ค่าตั๋ว BTS สุดสาย 104 บาท รองหัวหน้าพรรคกล้าลั่น ปชช.จ่ายไม่ไหว

ค่าตั๋ว BTS สุดสาย 104 บาท รองหัวหน้าพรรคกล้าลั่น ปชช.จ่ายไม่ไหว

จากกรณีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวปรับขึ้นราคาสูงสุดที่ 104 บาทตลอดสาย ในวันที่ 16 ก.พ. 2564 นี้ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคกล้าได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

“อย่ารีบต่ออายุสัมปทาน BTS รถไฟฟ้าสายสีเขียว วิธีคำนวนค่าโดยสารสุดสาย 104 บาทไม่แฟร์ รัฐยังต่อรองได้ ถ้าบริษัทเขี้ยวมาก ทดไว้คิดบัญชีตอนเปิดซองประมูลสายสีส้ม เส้นเลือดใหญ่ผ่าใจกลางเมืองเชื่อมกรุงเทพตะวันตก-ตะวันออก

คณะกรรมาธิการการคมนาคม มีมติเอกฉันท์ขอให้ กทม. ชะลอขึ้นค่าโดยสาร เป็นเรื่องที่ถูกต้อง รัฐบาลควรรับฟัง

ผมเห็นว่า มันเกินไปกับการขึ้นค่าโดยสาร BTS ที่สุดสาย 104 บาท ด้วยหลักคิด “วิ่งยาว รถวิ่งไกล ตั๋วยิ่งแพง” ขนส่งมวลชนคนมากๆ จะมาใช้วิธีแบบแท๊กซี่ส่งลูกค้ารายเดียวไม่ได้ ที่ควรจะเป็นคือ “วิ่งยาว คนใช้เยอะ ตั๋วต้องยิ่งถูก” เพราะรัฐใช้เงินแผ่นดินก่อสร้างส่วนต่อขยายให้ เอกชนไม่ได้ลงทุนเองทั้งหมด

บริษัทพยายามอธิบายว่าไม่มี “ค่าแรกเข้า” ในส่วนต่อขยายใหม่ แต่คิดเงินเพิ่มตามระยะทาง “ที่เขากำหนด” ผลที่ตามมาขณะนี้คือ ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรของไทยแพงกว่า ลอนดอน ฮ่องกง สิงคโปร์

ผมอยากเห็นกรุงเทพในอนาคต ใช้รถเมล์ไฟฟ้าวิ่งสั้นๆ ขนคนไปส่งรถไฟฟ้าสายหลัก เพื่อลดจำนวนรถในถนนบรรเทาการจราจร ลดมลพิษฝุ่น PM 2.5 ภาพนี้คงเกิดยากถ้า โครงสร้างราคาตั๋วรถไฟฟ้ายังเป็นแบบเดิม

สุดท้ายผมเสนอว่าถ้าเจรจาราคาตั๋วไม่ลง บริษัทเขี้ยวลากดินมากหนัก รัฐต้องทดไว้ในใจ เพราะรัฐยังมีไพ่สำคัญในมือคือ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ที่กำลังประมูลกันในขณะนี้

สายสีส้ม ตัวแปรสำคัญ เพราะบริษัทเดินรถเอกชนทั้งลอยฟ้าและใต้ดินต่างหมายปอง สายสีส้มวิ่งเชื่อมกรุงเทพตะวันตกถึงตะวันออก ผ่ากลางเมือง เกาะรัตนโกสินทร์ ลอดแม่นำ้เจ้าพระยา ผ่านย่านสำคัญๆเพียบ และเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายอื่นครบ เอาว่าใครได้ไป เป็นเบอร์1 คุมระบบรางการขนส่งมวลชนเมืองหลวงทันที

การประมูลสายสีส้มต้องดูเทคนิคดีๆ เพราะทั้งเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำ และมุดใต้ดินผ่านโบราณสถานหลายแห่ง ส่วนราคาก็ต้องระวัง อย่าให้ซุกตัวเลขทำให้ตั๋วราคาแพงในอนาคต

บทเรียนจากสายสีเขียว คงจะช่วยให้รัฐตัดสินใจกับสายสีส้มได้อย่างถูกต้อง อย่าให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ วันที่ 16 ม.ค. 2564 พลตํารวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากรุงเทพมหานครได้โพสต์ความคืบหน้าเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาค่าโดยสาร BTS 104 บาทว่า

ตลอดเวลาที่ผ่านมา กทม. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และได้พยายามหาทางแก้ไข รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินการต่างๆ โดยขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างการนำเสนอแนวทางแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบปรับลดค่าโดยสารให้เหลือ 65 บาทตลอดสาย เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นหลัก ช่วยลดผลกระทบด้านการจราจร มลพิษ และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กทม.ได้เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทุกเส้นทางแล้ว พร้อมทั้งได้ออกประกาศกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.64 เป็นต้นไป โดยการเก็บค่าโดยสารจะเก็บเพียงครั้งเดียวต่อรอบ ไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน โดยคิดจากเส้นทางต้นทางที่เริ่มเดินทาง ดังนี้ครับ

1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงเส้นทางสัมปทานในปัจจุบัน (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่) จะยังคงเป็นอัตราเดิม คือ 16-44 บาท

2. ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว ถึงสถานีคูคต ค่าโดยสาร 15 – 45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)

3. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท จากสถานีบางจาก ถึงเคหะสมุทรปราการ ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)

4. ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงที่ 2 จากสถานีโพธิ์นิมิตร ถึงสถานีบางหว้า ค่าโดยสาร 15-24 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)

พร้อมกันนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 กทม. จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุด จากเดิมที่ต้องจ่ายจริงตลอดสายอยู่ที่ 158 บาท เป็น 104 บาท แม้กทม.จะต้องแบกรับภาระการขาดทุนตั้งแต่ปี 2564 – 2572 ถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ก็ตาม ซึ่งขอยืนยันว่ากทม. จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุดและจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อนจะลดเพดานค่าโดยสารให้ไม่เกิน65บาท

 

ไทยเกอร์นิวส์

นำเสนออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ข่าวล่าสุด มั่นใจว่าคุณจะทันทุกสถานการณ์ ไม่ว่า สังคมเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง เรื่องร้อนออนไลน์ ดราม่าดารา อัปเดตบันเทิง ซีรีส์ หนัง เพลง ท่องเที่ยว กีฬา ตรวจหวย เลขเด็ด พร้อมเสิรฟ์ทุกเรื่องยาก ๆ ย่อยให้คุณเข้าใจง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button