กพท. เผย เงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย
กพท. เผย เงื่อนไขในการอนุญาตอากาศให้ยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย
เมื่อวานนี้ (29 มิถุนายน) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย
ตามที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มีการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศ ไทยเป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 นั้น
ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวยังคงมีความรุนแรงในต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการจำกัดการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้สอดคล้องกับความสามารถในการ จัดการคัดกรองของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรการป้องกันโรค และเพื่อการ ควบคุมและป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ อากาศยานบินผ่าน บินเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักร หรือขึ้นลงในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 อากาศยานดังต่อไปนี้สามารถทำการบินผ่าน บินเข้าออกนอกราชอาณาจักร หรือขึ้นลง ในท่าอากาศยานที่ให้บริการการบินระหว่างประเทศได้ เมื่อได้รับการอนุญาตการบินจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
- (1) อากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร (State or Military aircraft)
- (2) อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (Emergency landing)
- (3) อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical landing)โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง
- (4) อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทำการบินทางการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด –19 (Humanitarian aid, medical and relief flights)
- (5) อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา (Repatriation)
- (6) อากาศยานขนส่งสินค้า (Cargo aircraft)
ข้อ 2 อากาศยานขนส่งคนโดยสารที่จะทำการบินผ่าน บินเข้าออกนอกราชอาณาจักร หรือขึ้นลงในท่าอากาศยานในราชอาณาจักรที่ให้บริการการบินระหว่างประเทศ จะได้รับอนุญาตการบินจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเฉพาะเมื่อผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรนั้นเป็นบุคคล ประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- (1) ผู้มีสัญชาติไทย
- (2) ผู้มีเหตุยกเว้นหรือเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด อนุญาต หรือเชิญให้เข้ามาในราชอาณาจักรได้ตามความจำเป็น โดยอาจกำหนด เงื่อนไขและเงื่อนเวลาก็ได้
- (3) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของผู้มีสัญชาติไทย
- (4) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
- (5) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ตลอดจนคู่สมรสหรือบุตรของบุคคลดังกล่าว
- (6) ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น แต่เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้กลับออกไปโดยเร็ว
- (7) ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจและมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน
- (8) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาของสถานศึกษาในประเทศไทย ที่ทางการไทยรับรอง ตลอดจนบิดามารดาหรือผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว
- (9) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทยและผู้ติดตามของบุคคลดังกล่าว แต่ต้องไม่เป็นกรณีเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลโรคโควิด –19
- (10) บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศซึ่งมาปฏิบัติงานในประเทศไทย หรือบุคคลในหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น ตลอดจนคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว
- (11) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (special arrangement) กับต่างประเทศ
ข้อ 3 อากาศยาน และผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อ 2 จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลาและหลักเกณฑ์ของผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีผลบังคับใช้ อยู่ เพื่อการป้องกันโรคและจัดระเบียบจำนวนบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองและการจัดสถานที่ไว้กักกัน (quarantine) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563
นายจุฬา สุขมานพ
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย