ไทยชนะ ตอบทุกคำถามที่ผู้ประกอบการและลูกค้าสงสัย
ไทยชนะ ตอบทุกคำถามที่ผู้ประกอบการและลูกค้าสงสัย
ไทยชนะ – ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2563 โฆษก ศบค. เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ www.ไทยชนะ.com ว่า เป็นแพลตฟอร์ม (Platform) ที่แบ่งการใช้งานเป็นผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม และลูกค้าใช้บริการ ยืนยันว่าแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” จะช่วยลดภาระการจดบันทึกผู้เข้าใช้บริการของผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม และเพื่อลดความแออัดภายในพื้นที่ รวมถึงผู้เข้าใช้บริการจะสามารถตรวจสอบได้ว่าสถานที่ที่จะไปมีความหนาแน่นหรือไม่ ที่สำคัญ “ไทยชนะ” จะเป็นระบบที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย ตัวอย่างเช่น หากพบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ ก็จะสามารถระบุบุคคลที่เข้าใช้บริการในสถานที่เดียวกันได้
ทั้งนี้ โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมหากผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 1119 หากมีเหตุขัดข้องในการเข้าลงทะเบียนทางเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม www.ไทยชนะ.com ถือว่าเป็นระบบใหม่ ได้รับการดูแลจากธนาคารกรุงไทย ที่มีความสามารถรองรับระบบการลงทะเบียนจำนวนมาก และที่สำคัญคือมีการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าใช้บริการ ฝากให้ทุกคนปรับตัวและทำความเข้าใจไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ทางเว็บไซต์ ไทยชนะ.com ได้เผยแพร่คำถามที่พบบ่อย ทั้งส่วนของ กิจกรรม/กิจการ และ ผู้ใช้บริการไว้ดังนี้
กิจกรรม/กิจการ
ทำไมร้านค้าจึงต้องลงทะเบียน ร้านค้าที่ไม่ลงทะเบียนจะเปิดบริการได้หรือไม่
- ผู้ใช้บริการจะมีความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยของร้านค้าที่มีการลงทะเบียนและปฎิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ทำไมร้านค้า ห้างร้านต้องเข้ามาตรการนี้
- เป็นการสร้างมาตรฐานสุขอนามัยและความน่าเชื่อถือให้กับกิจการ/กิจกรรมนั้น ๆ ว่ามีความปลอดภัยต่อการเข้าใช้บริการของลูกค้า ซึ่งทำให้กิจการ/กิจกรรมนั้น ๆ สามารถกลับเข้าสู่การทำธุรกิจแบบปกติได้เร็วขึ้น
เบอร์มือถือ 1 เครื่อง สามารถลงทะเบียนได้กี่คน
- เบอร์โทรศัพท์มือถือ 1 เบอร์สามารถลงทะเบียนได้ 1 ร้านค้า/สาขา (1 ร้านค้า ต่อ 1 เบอร์ ต่อ 1 QR)
ถ้าร้านค้ามีหลายสาขา ต้องลงทะเบียนทุกสาขาหรือไม่ แล้วการประเมิน Rating ผลประเมินรวมหรือแยก
- กรณีร้านค้ามีหลายสาขา ให้ตัวแทนเจ้าของกิจการที่ดูแลร้านเป็นผู้ลงทะเบียน และการประเมินแยกรายสาขาตาม QR ที่แสดงไว้ ณ สาขานั้นๆ
ใบรับรองการประเมินตามมาตรการมีหลักเกณฑ์การทบทวนคุณภาพอย่างไร
- ผู้ที่มาใช้บริการร้านค้าจะเป็นผู้ประเมินคุณภาพของกิจการผ่านแบบประเมินหลังการ check-out
ร้านค้าสามารถตรวจสอบมาตรฐานจาก Rating ของลูกค้าจากที่ไหน
- กิจการสามารถตรวจสอบ Rating ได้จาก website ที่ใช้ลงทะเบียน (www.ไทยชนะ.com) โดยให้คลิ๊กปุ่ม “ค้นหาร้านค้า”
ขั้นตอนการลงทะเบียน
หากร้านค้าประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ จะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้หรือไม่
- ไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้สำเร็จ และจะไม่ได้ใบรับรองการประเมินตามมาตรการ เพื่อรับ QR CODE ให้ผู้ใช้บริการ Scan Check in/Check Out
ถ้ากิจการที่มีหลายสาขา และใช้ข้อมูลของผู้จัดการ หากมีการเปลี่ยนแปลง จะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ผ่านช่องทางไหน
- สามารถแก้ไขข้อมูลได้ที่ website www.ไทยชนะ.com ที่ปุ่มจัดการข้อมูลร้านค้า
วิธีการกรอกพื้นที่การให้บริการที่สอบถามใน website ลงทะเบียนนั้น มีพื้นที่อะไรบ้าง
- ระบุข้อมูลเฉพาะพื้นที่ให้บริการลูกค้า ไม่นับรวมบริเวณอื่นๆ เช่น พื้นที่จอดรถ
จำนวนผู้ใช้บริการสูงสุด นั้นนับอย่างไร และนับรวมพนักงานหรือไม่
- จำนวนผู้ใช้บริการสูงสุดนับเฉพาะจำนวนลูกค้า ผู้ใช้บริการ บนพื้นที่ให้บริการ ไม่รวมพนักงาน
ข้อควรระวังในการกรอกเลขบัตรประชาชนมีอะไรบ้าง
- เลขบัตรประชาชน ต้องกรอกให้ครบทั้ง 13 หลัก, รหัสหลังบัตรฯ 2 หลักแรกต้องเป็นตัวอักษร และ 10 หลักหลังเป็นตัวเลข โดยต้องระบุ วัน/เดือน/ปีเกิด ให้ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน
หากกรอกข้อมูลบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง QR Code จากระบบจะใช้งานได้หรือไม่
- กรณีกรอกข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้อง QR Code จะสามารถใช้ได้แค่ 24 ชม. ท่านจะต้องทำการแก้ไขข้อมูลใหม่ที่เมนู “จัดการข้อมูลร้านค้า” เพื่อให้ QR Code สามารถใช้ได้ตลอดไป
ข้อควรระวังในการกรอก ชื่อ-นามสกุลมีอะไรบ้าง
- การกรอกข้อมูลไม่ต้องระบุคำนำหน้า เช่น นาย/นาง/นางสาว และต้องสะกดให้ถูกต้องทั้งหมด และระมัดระวังในการกรอกข้อมูลส่วนตัวให้ถูกต้อง เช่น ตัวสะกด สระเอ กับสระแอ
ผู้ใช้บริการ
ประชาชนสามารถเช็คเรตติ้งของร้านค้าที่จะไปใช้บริการได้ Real Time หรือไม่
- ประชาชนสามารถตรวจสอบ rating ได้จาก website www.ไทยชนะ.com โดยให้คลิ๊กปุ่ม “ค้นหาร้านค้า”
ถ้ากิจกรรม/กิจการ ไม่ให้ผู้เข้ารับบริการ check in – out ได้หรือไม่.
- ไม่ควรกระทำ และสถานประกอบการควรให้ผู้มาใช้บริการ check in/check out ทุกคน เนื่องจาก หากกิจการไม่ปฏิบัติตามมาตรการแล้ว อาจเกิดกรณีที่มีผู้ติดเชื้อเข้ามาใช้บริการ สถานประกอบการจะได้ทราบทันทีและทำความสะอาดร้าน/สถานที่ ให้ถูกสุขอนามัย
ผู้เข้าใช้บริการ check in แต่ไม่ check out จะเกิดอะไรขึ้น
- กิจการ/กิจกรรมนั้น ๆ จะมียอดสะสมของผู้เข้าใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งอาจเกินกว่ากำหนด ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการหนาแน่นได้ ซึ่งนำไปสู่การไม่อนุญาตให้เปิดบริการได้
หากผู้ใช้บริการไม่มีเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้ check in/check out สถานที่ให้บริการควรทำอย่างไร
- กิจการจะต้องขอจดบันทึกเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ ของผู้เข้าใช้บริการที่สถานประกอบการหากลูกค้าไม่มี smartphone
การบันทึกข้อมูล checkin-out ของผู้เข้าใช้บริการ ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่
- ข้อมูลที่ถูกเก็บของผู้เข้าใช้บริการจะเป็นข้อมูลแบบมีรหัส ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานและผู้ได้รับอนุญาติเท่านั้นถึงจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ อีกทั้งได้กำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลไว้เพียง 60 วัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยชนะ.com