ข่าวไม่มีหมวดหมู่

รวบหนุ่มแฮกเกอร์ ปลอมไลน์แม่ค้าออนไลน์หลอกเงินลูกค้า เสียหายกว่า 1.2 ล้านบาท

วันนี้ (22 ต.ค.) ตำรวจได้ร่วมแถลงผลการจับกุมแก๊งแฮกเกอร์ที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยผู้ต้องหาประกอบด้วย นายอรรถยา หรือ อุ้ย ศศิธร อายุ 28 ปี นายปฐมศิลป์ หรือ ไก่ จำเริญสม อายุ 35 ปี นางวิลาศิณี หรือ นิด มาลาวัยจันทร์ อายุ 39 ปี และน.ส.ณภัสสรณ์ หรือ แหวว ธนพลจรัสไชย อายุ 36 ปี

 

โดยสามารถจับกุม นายอรรถยาและนายปฐมศิลป์ ได้บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า ถ.จรัลสนิทวงศ์ แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กทม. ส่วนนางวิลาศิณีและน.ส.ณภัสสรณ์ ถูกจับที่กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (กก.สส.บก.น.1) พร้อมของกลาง ธนบัตรเงินสด 170,000 บาท โทรศัพท์มือถือ 10 เครื่อง สมุดบัญชี ธ.กสิกรไทย พร้อมบัตรเอทีเอ็มใช้ก่อเหตุ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง รถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์ ยี่ห้อดูคาติ 1 คัน และรถยนต์สปอร์ต ยี่ห้อนิสสัน รุ่น 350 แซดอีก 1 คัน

 

ตำรวจเผยว่า แก๊งแฮกเกอร์นี้ จะทำทีเข้าไปเป็นเพื่อนในไลน์หรือเฟซบุ๊ก แล้วปลอมตัวเป็นเจ้าของไลน์หรือเจ้าของเฟซบุ๊กก่อนจะหลอกให้เหยื่อโอนเงิน โดยก่อนการจับกุมทางตำรวจสน.ห้วยขวาง รับแจ้งจากน.ส.สุนทราภรณ์ (สงวนนามสกุล) ผู้เสียหาย ว่าถูกคนร้ายแฮกไลน์ หลอกให้โอนเงินค่ากระเป๋า 2 ครั้ง รวมจำนวน 150,000 บาท

 

เจ้าหน้าที่ตรวจจึงระดมสืบสวนจับกุม จนทราบวิธีการของคนร้ายซึ่งจะพรางตัวเป็นเพื่อนในกลุ่มไลน์ จากนั้นก็แอบเข้ามาดูพฤติกรรมของเป้าหมายเมื่อรู้พฤติกรรมว่าเหยื่ยมีการซื้อขายกับใคร ก็จะปลอมตัวโดยเปลี่ยนหน้ารูปให้เหมือนคนขาย หลอกให้เหยื่อโอนเงินแล้วหลบหนี

 

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีผู้เสียหาย 15 คน จากพื้นที่ สน.ห้วยขวาง สน.บางเขน สน.ปทุมวัน สน.สายไหม สภ.ปากเกร็ด สภ.เมืองอุดรธานี สภ.เมืองหนองคาย สภ.บางแก้ว สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ สภ.เมืองนนทบุรี ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,285,000 บาท

 

ภาพจาก ข่าวสด

 

หลังจากนั้น ตำรวจได้ขยายผลจับกุมนางวิลาศิณี หรือนิด และ น.ส.ณภัสสรณ์ หรือแหวว ที่กก.สส.บก.น.1 พร้อมทั้งสามารถจับกุมนายปฐมศิลป์ หรือไก่ ผู้รับเงินจากหญิงสาวทั้ง 2 ส่งให้แฮกเกอร์ผู้ทำการปลอมไลน์ คือ นายอรรถยา หรืออุ้ย บริเวณห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธีการคือ การแฮกไลน์โดยตรง โดยใช้วิธีสุ่มอีเมล์ที่ใช้สมัคร จะได้ยูเซอร์พาสเวิร์ดของเหยื่อมาใช้ก่อเหตุ ซึ่งมีข้อแนะนำคือ อีเมล์แอดเดรสกับพาสเวิร์ส ที่ใช้สมัครเฟซบุ๊กและไลน์ไม่ควรใช้อันเดียวกัน เนื่องจากง่ายต่อการสุ่มเข้าไป

 

ตำรวจพบว่ากลุ่มคนร้ายไม่ได้ประกอบอาชีพอื่น และก่อเหตุลักษณะนี้มาแล้วประมาณ 2 ปี ได้จ่ายเงินค่าจ้างให้กับทีมงานเป็นม้าเร็วเพื่อกดเงินที่ได้รับการโอนมาให้ตนเองเดือนละ 50,000 บาท โดยสามารถเจาะข้อมูลเว็บไซต์ลงโฆษณาฟรี ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการและสมัครสมาชิก เพื่อเอาข้อมูลอีเมล์และพาสเวิร์ด มาทดสอบเข้าแอพพลิเคชันไลน์ของผู้อื่น และเมื่อพบว่าอีเมล์ที่ได้มาผูกกับบัญชีไลน์ก็จะเปิดเบอร์โทรศัพท์ใหม่แล้วนำอีเมล์ดังกล่าว มาลงทะเบียนเข้าไลน์ปลอมตัวเป็นบุคคลนั้นๆ โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องกฎหมายฟอกเงินอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ทางตำรวจได้ฝากถึงประชาชน หากพบเจอบุคคลที่ไม่รู้จักคุ้นเคย หลอกให้โอนเงินหรือต้องโอนเงินไปในบัญชีที่ไม่รู้จัก ให้โทรศัพท์พูดคุยกันอย่าไปเชื่อข้อมูลในเฟซบุ๊กและไลน์ อีกทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการติดต่อทางโซเชียล สำหรับประชาชนที่เคยถูกกระทำผิดในลักษณะนี้ ให้เข้ามาให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้สืบสวนขยายผลจับกุม

 

ด้านผู้เสียหายคือ น.ส.สุนทราภรณ์ เล่าว่า ขณะที่โดนปลอมไลน์ไม่สามารถทำอะไรกับไลน์ได้เลย แม้พยายามโทร.ติดต่อเจ้าของเครือข่ายระบบไลน์แล้วก็ตาม วิธีเดียวที่ทำได้คือเมื่อรู้ว่ากำลังโดนแฮกให้โทร.หาคนใกล้ชิดว่าห้ามโอนเงินให้ใครทั้งสิ้น โดยตนทำธุรกิจค้าขายกระเป๋า หลังจากโดนแฮกไลน์ก็เกิดความเสียหายมาก บางครั้งลูกค้าที่ไม่สนิทตกใจ ว่าทำไม่เราออกจากไลน์ซึ่งมีผลต่อความสัมพันธ์ นอกจากนี้ ตนยังพบว่ายังมีเหยื่อที่ถูกแฮกอีกหลายราย จึงขอฝากไปถึงผู้ให้บริการทางเฟซบุ๊กและไลน์ ช่วยดูแลและปิดช่องโหว่เรื่องดังกล่าวด้วย

 

 

ที่มา ข่าวสด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button