สุขภาพและการแพทย์

5 สิ่งกระตุ้นภาวะวิตก หากกำลังเครียด ควรเลี่ยง

ในปัจจุบันที่คนเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาวะที่เต็มไปด้วยมลพิษทางร่างกายและอารมณ์นั้น ทำให้เกิดภาวะวิตกกังวล (anxiety) ได้ง่าย และ 5 สิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่เรามักจะทำเมื่อเกิดภาวะดังกล่าว ซึ่งจริงๆ แล้วนอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้อาการแย่ลงอีกด้วย

คาเฟอีน

การบริโภคคาเฟอีนไม่ว่าจะมาจากกาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำดำ หรือ ช็อกโกแลต ในภาวะที่กำลังวิตกกังวลอยู่นั้น คาเฟอีนจะเข้าไปส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นการเต้นของหัวใจและการผลิตอะดรีนาลีน ซึ่งทำให้ร่างกายตื่นตัว และส่งผลให้ร่างกายและจิตใจเครียดไปโดยอัตโนมัติ

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หลายๆ ครั้งที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นทางออกของผู้ที่กำลังเครียดหรือมีภาวะวิตกกังวลเพื่อให้ลืมเรื่องต่างๆ ชั่วขณะ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะทำให้เราหลั่งสารเซโรโทนิน (serotonin) ออกมาจำนวนมากในช่วงระยะสั้นๆ ซึ่งเซโรโทนินเป็นสารสื่อนำประสาทที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขนั่นเอง อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า มีขึ้นก็ต้องมีลง และสารเซโรโทนินที่ปล่อยออกมาก็หมดลงได้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดๆ กันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้สารเซโรโทนินหมดสิ้นไปได้ แถมด้วยอาการมือสั่น ไข้ ความรู้สึกไม่สบายตัว บวกกับอาการแฮงค์ ที่ตามมาจากการดื่ม ซึ่งทำให้ภาวะวิตกกังวลยิ่งแย่ลงไปอีก

นอนน้อย

อาการนอนไม่หลับกับภาวะวิตกกังวลนั้นเป็นเหมือนวงจรที่ไม่รู้จบ เพราะเมื่อเครียดหรือวิตกก็จะทำให้นอนไม่หลับ และยิ่งนอนไม่หลับก็ยิ่งมีอาการวิตกกังวลหนักขึ้น เวลาที่เรารู้สึกเหนื่อยล้า อะไรๆ ก็จะยิ่งดูยากขึ้นไปอีกเท่าตัว จากการวิจัยพบว่า ความเหนื่อยนั้นจะส่งผลต่อสมองส่วนที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก และผู้ที่วิตกกังวลในเรื่องต่างๆ นั้นจะอ่อนไหวและรู้สึกเครียดได้ง่ายขึ้นเมื่อพักผ่อนน้อย เพราะฉะนั้น พยายามให้ความสำคัญกับการนอนอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 7 – 9 ชั่วโมง (อ่าน 12 สิ่งก่อนนอน เลี่ยงแล้ว หลับสบาย https://thethaiger.com/th/thai/12-สิ่งก่อนนอน-เลี่ยงแล้ว)

กินหวาน

คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่เวลาเครียด จะหาของหวานมารับประทานใช่หรือไม่? จริงๆ แล้วของหวานนั้นจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงจุดสูงสุดระดับหนึ่งแล้ว ระดับน้ำตาลจะตกฮวบลง เมื่อน้ำตาลตกฮวบ อาการต่างๆ ก็จะตามมา เช่น มือสั่น วิงเวียนศีรษะ หรือ เหนื่อยล้า ซึ่งจะทำให้ภาวะวิตกกังวลแย่ลง หรืออาจทำให้รู้สึกคล้ายๆ อาการแพนิค (panic attack) ได้เลย อาหารที่ควรเลือกรับประทาน เช่น ธัญพืช ถั่ว อาหารโปรตีนสูง ผัก และผลไม้ เพราะร่างกายจะค่อยๆ ดูดซึมน้ำตาลจากอาหารเหล่านี้ช้าๆ

พยายามหยุดความคิดหรือความรู้สึก

ทุกคนที่เครียดหรือกังวลใจคงเคยพยายามบังคับตัวเองให้หยุดคิดหยุดรู้สึก แต่ยิ่งพยายามหลีกเลี่ยงเท่าไรความรู้สึกหรือความคิดเหล่านั้นจะยิ่งมีอิทธิพลต่อเรามากขึ้น การปฏิเสธความรู้สึกตัวเองนั้น มีแต่จะเพิ่มความเครียดและความกังวล จริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรทำคือ ลองพยายามยอมรับมัน อยู่กับความรู้สึก สังเกต และรู้เท่าทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง ยอมรับว่าแม้แต่ตัวเราเองก็มีความคิดความรู้สึกกังวลใจได้ แล้วอะไรๆ จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

ขอบคุณเนื้อหาจาก Calmer You

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button