สมาคมนักข่าวฯ เตือน ทีมงานนายกฯ เผยแพร่ใบหน้าสื่อประเด็น ไทย-กัมพูชา ชี้อาจคุกคาม

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงแตือน ทีมงานนายกรัฐมนตรี ปมถ่ายรูปติดสื่อมวลชน ทำให้เสียหาย ชี้สร้างความหวาดกลัว พร้อมเรียกร้องให้เคารพเสรีภาพสื่อ
วันที่ 11 มิถุนายน 2568 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เตือนทีมงานนายกรัฐมนตรี ผ่านเฟซบุ๊ก กรณีถ่ายภาพและเผยแพร่ใบหน้าของผู้สื่อข่าว ที่ตั้งคำถามในประเด็นความขัดแย้ง ไทย-กัมพูชา ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายคุกคามและสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว โดยหวังให้รัฐบาลเคารพเสรีภาพของสื่อมวลชน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สื่อสามารถทำหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย
สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ทีมงานด้านสื่อสังคมออนไลน์ของนายกรัฐมนตรี ได้บันทึกภาพผู้สื่อข่าวขณะกำลังตั้งคำถามต่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา ภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ณ ทำเนียบรัฐบาล ต่อมาภาพใบหน้าของผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวได้ถูกนำไปเผยแพร่ และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากนายกรัฐมนตรีได้แสดงท่าทีไม่พอใจต่อคำถามในประเด็นเดียวกัน ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ได้สร้างความกังวลต่อบรรยากาศการทำงานของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ตั้งข้อสังเกตพร้อมข้อเรียกร้องดังนี้
- การบันทึกภาพสื่อมวลชนเฉพาะเจาะจงระหว่างการตั้งคำถามต่อผู้บริหารประเทศ และการเผยแพร่ภาพดังกล่าวต่อสาธารณะ อาจถูกมองว่าเป็นการกดดันหรือข่มขู่ ซึ่งกระทบต่อบรรยากาศการทำงานของสื่อมวลชน และบั่นทอนหลักเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและการตั้งคำถามอันเป็นหัวใจของวิชาชีพในระบอบประชาธิปไตย
- พฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ โดยเฉพาะในการสอบถามประเด็นอ่อนไหวที่ประชาชนให้ความสนใจและต้องการคำชี้แจงจากรัฐบาล
- สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ทีมงานนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หยุดพฤติกรรมที่อาจถูกตีความว่าเป็นการคุกคามสื่อมวลชน และขอให้รัฐบาลส่งเสริมเสรีภาพสื่อโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นอิสระในการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน
ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หวังว่ารัฐบาลจะเล็งเห็นความสำคัญของบทบาทสื่อมวลชนในฐานะกลไกการตรวจสอบและเสียงสะท้อนของภาคประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเคารพในเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศที่เกื้อหนุนให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพและเป็นอิสระต่อไป
ย้อนเหตุการณ์วันที่ 6 มิถุนายน นักข่าวตั้งคำถามอะไร กับนายกรัฐมนตรี
วันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นวันที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมีผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งถามว่า “คนในประเทศรอฟังท่าทีในการรักษาอธิปไตย ในขณะที่คนคลั่งชาติ เป็นเพื่อนบ้านรุกล้ำเข้ามา เปรียบได้หากบุกเข้าไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า หรือบ้านของนายกฯ รุกล้ำเข้าไป 200 เมตร นายกฯจะใช้วิธีใดเพื่อแก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่านี้” และได้สอบถามถึง มาตรการที่ชัดเจนเพิ่มเติมหรือจะพูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พูดคุยกับทางกัมพูชาหรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิเสธตอบคำถามและขึ้นรถเดินทางกลับตึกไทยคู่ฟ้าทันที
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ฮุน มาเนต จับมือ ปธน.มาครง กระชับสัมพันธ์ กัมพูชา-ฝรั่งเศส เพื่อนที่ดีต่อกัน
- นายกอิ๊งค์ เซ็งทีมงานห้ามซื้อหวย ถามทำไมเราซื้อไม่ได้ บอกผิดกฎ
- สมาคมนักข่าวฯ ไม่ทน “บิ๊กป้อม”ตบศีรษะนักข่าว ต้องรับผิดชอบ เข้าข่ายคุกคาม
ติดตาม The Thaiger บน Google News: