ท่องเที่ยวอีเว้นท์

ออกกฎใหม่ เที่ยวบินดีเลย์ ยกเลิกเที่ยวบิน ได้เงินชดเชย มีผล 20 พ.ค. 68

กบร. ออกข้อบังคับใหม่ คุ้มครองผู้โดยสารเครื่องบิน ทั้งเที่ยวบินดีเลย์ ยกเลิกเที่ยวบิน ได้เงินชดเชย มีผล 20 พฤษภาคม 2568

คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ข้อบังคับใหม่ (ฉบับที่ 101) ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสาร ทั้งเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้ผู้โดยสารมากขึ้น กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าหรือยกเลิก โดยที่สายการบินไม่ได้แจ้งล่วงหน้า หรือผู้โดยสารไปถึงสนามบินแล้ว

ถ้าบินระหว่างประเทศ แล้วเกิดปัญหา ยกเลิก ดีเลย์ จะได้รับการดูแลอย่างไร?

1. กรณีเที่ยวบินดีเลย์ (ล่าช้า)

ดีเลย์เกิน 2 ชั่วโมง

  • สายการบินต้องจัดหา อาหารและเครื่องดื่ม ให้ฟรี หรือให้คูปองไปแลกซื้อ ตามความเหมาะสมกับเวลาที่รอ
  • ต้องมี อุปกรณ์ให้ติดต่อสื่อสารได้ เช่น โทรศัพท์ หรือ อีเมล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ดีเลย์เกิน 5 ชั่วโมง

  • ได้รับ อาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์สื่อสาร เหมือนกรณีดีเลย์ 2 ชั่วโมง
  • สายการบินต้อง จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินสด 1,500 บาท หรือให้เป็นวงเงินใช้เดินทางครั้งหน้า (credit shell), บัตรกำนัล (travel vouchers), ไมล์สะสม หรือสิ่งอื่นที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าเงินสด 1,500 บาท ภายใน 14 วัน
  • หากต้องรอข้ามคืน สายการบินต้องจัดหา ที่พักพร้อมรถรับ-ส่ง ให้ด้วย

หากคุณ ไม่อยากเดินทางต่อแล้ว สายการบินต้องเสนอทางเลือกให้ทันที คือ

  • รับเงินค่าตั๋วคืนเต็มจำนวน หรือรับเป็นวงเงินใช้เดินทางครั้งหน้า, บัตรกำนัล, ไมล์สะสม หรือสิ่งอื่นแทน

ดีเลย์เกิน 10 ชั่วโมง

  • ได้รับ อาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์สื่อสาร เหมือนกรณีดีเลย์ 2 และ 5 ชั่วโมง
  • สายการบินต้องเสนอทางเลือก ค่าชดเชย ให้ทันที โดยคุณเลือกได้ระหว่าง

รับเป็นเงินสด (ภายใน 14 วัน)

  • เที่ยวบินระยะทางไม่เกิน 1,500 กม. ได้รับ 2,000 บาท
  • เที่ยวบินระยะทาง 1,500 – 3,500 กม. ได้รับ 3,500 บาท
  • เที่ยวบินระยะทางเกิน 3,500 กม. ได้รับ 4,500 บาท

หรือรับเป็นวงเงินใช้เดินทางครั้งหน้า, บัตรกำนัล, ไมล์สะสม หรือสิ่งอื่นที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าเงินสดตามเกณฑ์ข้างต้น (ภายใน 14 วัน)

หากต้อง รอข้ามคืน สายการบินต้องจัดหา ที่พักพร้อมรถรับ-ส่ง ให้

หากคุณ ไม่อยากเดินทางต่อแล้ว สายการบินต้องเสนอทางเลือกให้ทันที คือ

  • รับเงินค่าตั๋วและค่าธรรมเนียมอื่นๆ คืนเต็มจำนวน หรือรับเป็นวงเงิน/บัตรกำนัล/ไมล์สะสม
  • เปลี่ยนเที่ยวบินใหม่ไปจุดหมายเดิม หรือจุดหมายใกล้เคียง
  • ให้เดินทางด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสมไปยังจุดหมายเดิม หรือจุดหมายใกล้เคียง

ถ้าบินระหว่างประเทศ แล้วเกิดปัญหา ยกเลิก ดีเลย์ จะได้รับการดูแลอย่างไร?

2. กรณีเที่ยวบินถูกยกเลิก หรือ ถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง

ทั่วไปแล้ว สายการบินจะต้องชดเชยให้คุณ เหมือนกับกรณีดีเลย์เกิน 10 ชั่วโมง

ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องชดเชยแบบจัดเต็ม

  • ถ้าสายการบินแจ้งยกเลิก ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน
  • ถ้าแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 7 วัน แต่หาเที่ยวบินใหม่ให้ได้ ทำให้ต้องเปลี่ยนเวลาเดินทางใหม่ เร็วหรือช้ากว่าเดิมไม่เกิน 3 ชั่วโมง
  • ถ้าการยกเลิกเกิดจาก เหตุสุดวิสัย ที่ควบคุมไม่ได้จริงๆ (เช่น สภาพอากาศเลวร้ายมาก, ภัยธรรมชาติ) แม้สายการบินจะพยายามป้องกันแล้วก็ตาม

ถ้าบินในประเทศ แล้วเกิดปัญหา มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง?

สำหรับเที่ยวบินในประเทศ กฎใหม่นี้ได้ เพิ่มค่าชดเชย ให้มากขึ้น

เที่ยวบินดีเลย์เกิน 5 ชั่วโมง

  • เดิม: ชดเชย 600 บาท
  • ใหม่: ชดเชย 1,200 บาท

เที่ยวบินถูกยกเลิก

  • เดิม: ชดเชย 1,200 บาท
  • ใหม่: ชดเชย 1,500 บาท

รูปแบบการชดเชย

  • สายการบินสามารถเสนอเป็นเงินสด, วงเงินใช้เดินทางครั้งหน้า (credit shell), บัตรกำนัล (travel vouchers), ไมล์สะสม หรือสิ่งอื่นแทนได้

*ข้อยกเว้น ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หากเกิดจากเหตุสุดวิสัยที่ควบคุมไม่ได้

ค่าชดเชยการดีเลย์เที่ยวบิน (บาท)

ใหม่ คุ้มครองกรณี “ดีเลย์บนเครื่อง” (Tarmac Delay)

หมายถึง กรณีที่เครื่องบินยังไม่ได้ขึ้นบิน แต่ผู้โดยสารขึ้นไปนั่งรออยู่บนเครื่องแล้ว และเกิดความล่าช้า สายการบินต้องดูแลเหมือนกรณีเที่ยวบินดีเลย์ทั่วไป

ต้องดูแลเรื่องสำคัญบนเครื่อง จัดให้มีอากาศถ่ายเท. ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม มีห้องน้ำให้บริการ หากมีผู้โดยสารต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์เร่งด่วน ต้องรีบจัดการให้

ถ้าดีเลย์บนเครื่องเกิน 3 ชั่วโมง และยังไม่รู้ว่าจะได้บินเมื่อไหร่ สายการบิน ต้องอนุญาตให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบินได้ ยกเว้น กรณีที่อาจกระทบต่อความปลอดภัย หรือมีเหตุผลด้านการจัดการจราจรทางอากาศ

จำไว้ว่ากฎใหม่นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป หากคุณต้องเดินทางโดยเครื่องบินหลังจากนี้ และเกิดปัญหาเที่ยวบินล่าช้าหรือยกเลิก อย่าลืมรักษาสิทธิของตัวเองตามข้อบังคับใหม่นี้นะครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx