ข่าว

นักตกปลาชื่อดัง โต้เดือดคนเทียบ เสือดำเปรมชัย ชี้คนละกรณี วอนหยุดอคติ

‘ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา’ โต้คนเทียบ ตกปลาอนุรักษ์ กับ เสือดำเปรมชัย ชี้คนละเรื่อง ยันตกปลาด้วยเบ็ดจำเป็นต่องานวิจัยปลาหายาก วอนเข้าใจและร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์

กลายเป็นประเด็นถกเถียงในแวดวงอนุรักษ์และผู้สนใจทรัพยากรธรรมชาติอีกครั้ง เมื่อ “ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา” นักตกปลาและนักผจญภัย เจ้าของบริษัท มาฮ์เซียร์ แท็คเกิ้ล ที่นำเข้าอุปกรณ์ตกปลา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Tup Meesupwatana เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงและตอบโต้กระแสสังคมที่นำเอา “การตกปลาเชิงอนุรักษ์” ไปเปรียบเทียบกับคดี “ล่าเสือดำ” ของนายเปรมชัย กรรณสูต อันโด่งดัง

ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา ได้ยืนยันว่า เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง เพราะการตกปลาเพื่อการวิจัยนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำ อีกทั้งเป็นวิธีสากลในการศึกษาปลาหายาก เพราะยั่งยืนกว่าอวนลาก-วางข่าย ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยการวอนขอให้หยุดอคติ และจับมือร่วมกันช่วยอนุรักษ์

Tup Meesupwatana แจงเปรียบเทียบคดีเสือดำ
ภาพจาก : Tup Meesupwatana

โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ดังนี้ “เสือดำเปรมชัยก็ไม่ต่างจาก ข้ออ้างของคนตกปลาอนุรักษ์? แยกเรื่องตกปลากิน ตกปลาเพื่อเลี้ยงชีพ ตกปลาในรูปแบบต่าง ๆ ออกก่อน เพราะมีหลายคนตั้งคำถาม เอาเสือดำมาเปรียบเทียบ ครั้งนี้เลยจะยกตัวอย่าง การตกปลาเพื่องานวิจัยโดยตรงเลย ถ้าไม่ได้ปลา นักวิจัยก็นั่งรอบนเรือเฉย ๆ เลย

ตกปลามันช่วยงานวิจัยยังไง? สมมุติมันมีประชากรของปลาชนิดนึง อยู่ในแหล่งน้ำ โดนตัดขาดจากประชากรอีกกลุ่ม โดยสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ การใช้ชีวิตประจำวันของคน มีผลกระทบต่อพวกมัน น้ำเสียโลกร้อน เป็นต้น ถ้าคนไม่ไปช่วยมัน ศึกษาหาทางออก มันก็อาจจะหายไปเลย เพราะปลามันอยู่ในน้ำ ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น นอกจากลอยตรุย หรือโดนจับโดยบังเอิญ ไม่ใช่ปลาทุกชนิดจะเอามาเพาะพันธุ์ได้ หลาย ๆ ชนิดขยายพันธุ์ได้จากในแหล่งน้ำดั้งเดิมเท่านั้น

เราไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในการที่จะอนุรักษ์มัน ไม่รู้ว่ามีเท่าไร ขนาดไหน กินอะไร อยู่ช่วงไหน มันอยู่ในน้ำ มันมีโรคไหม มันท้องรึเปล่า? ดำลงไปดูก็ไม่ได้ กว่าจะรู้ ตัวที่ลอยอืดขึ้นมา อาจจะเป็นตัวสุดท้ายก็เป็นได้

คนยกตัวอย่างเสือดำเปรมชัยกับตกปลาเชิงอนุรักษ์ เสือดำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มันอยู่ในป่า ที่มีหลาย ๆ วิธีที่จะติดตามมันได้ ติดตามดูพฤติกรรม ตั้งกล้อง แม้แต่ยิงยาสลบ ติดเครื่องติดตาม เดินลาดตระเวน แต่งานบนบกกับในน้ำมันต่างกันครับ

ปลามันอยู่ในน้ำ จะเลือกจับชนิดที่ต้องการได้อย่างไร? เพื่อให้กระทบสัตว์น้ำชนิดอื่นน้อยที่สุด? ตกขึ้นมา ก็ไม่ตรุย เหมือนเสือโดนตะกั่ว เอาอวนล้อมก็โดนหมดทุกชนิด ปลาเล็ก ปลาน้อย ทับกันตxย วางข่ายติด ข่ายก็พัน รัดหายใจไม่ออกตุยยย บาดเจ็บจนติด Tag ไม่ได้

มันไม่มีทางไหนนอกจาก #ตกปลา เป็นวิธีที่เขาทำกันกับงานอนุรักษ์เป็นสากล ติด Tag ทูน่า กระโทง ฉลาม กระเบน ตามสารคดีมีให้เห็นทั่วไป ฝรั่งทำ ไม่มีใครติ คนไทยทำโดนทัวร์ งงใจ… ตกปลาติด Tag แล้วสามารถปล่อยได้ทันที แต่ต้องมีความชำนาญเป็นอย่างมาก จะให้ดำลงไปยิงยาสลบแบบเสือ แล้วอุ้มปลาขึ้นมาเหรอครับ? ปลาบางชนิดหยุดว่าย ไม่นานก็ไปสวรรค์แล้วว

หลายครั้งที่นักวิจัยตามมาเฝ้าปลาเป็นวัน ๆ ก็ไม่ได้ ในบางครั้ง คนตกปลาได้ปลา เราไม่สามารถเคลื่อนย้ายปลาได้ ด้วยขนาดและอาจจะทำให้บาดเจ็บ เราโทรเรียกนักวิจัย พอได้ข่าวเขาก็ทิ้งงานที่ทำอยู่ แล้วก็รีบรถมาทันที คนตกปลาก็แช่น้ำรออยูเป็นชั่วโมง ๆ จะเห็นว่าตัวอย่างปลาในธรรมชาติ มันมีความสำคัญต่องานวิจัยเป็นอย่างมาก

เราไม่ได้ตกปลาที่หาง่าย ๆ เพราะถ้าหาง่าย เราก็คงไม่รีบเก็บข้อมูลเพื่อช่วยเหลือมัน เราเลยทำกับปลาหายากตลอด และจากประสบการณ์ นักวิจัยบางคน ที่มากับเราก็ไม่ได้ชอบ ที่เราตกปลาหรอก แต่มันจำเป็น มันไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นอกจากร่วมมือกัน

คุณทำงานวิจัย ผมทำงานตกปลา = ร่วมกันอนุรักษ์ เงินก้อนนั้นที่ให้ไป จนวันนี้ก็ยังหาไม่พอค่า Tag ค่าเรือ ค่ายา ค่าดำเนินการ Project ที่กำลังจะทำนี้เลย ทุนมันไม่ได้หากันง่าย ๆ งานไม่ได้ทำฟรี ๆ เพราะเงินก็ลง แรงก็ลง

วันนี้ช่อง One เรื่องใหญ่รายวัน เรื่องประเด็นร้อน งานอนุรักษ์ ความร่วมมือของวงการต่างๆ และคนตกปลากับงานวิจัย ไปเปิดหูเปิดตาฟังกัน”

ทั้งนี้ หลังเผยแพร่โพสต์ออกไป ก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงความจริงที่ ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา ชี้แจงไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็เห็นด้วยว่าทั้งสองประเด็นไม่ควรถูกนำมากล่าวเหมารวม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx