สุขภาพและการแพทย์

อย่าชะล่าใจ งูสวัด ไม่ใช่แค่ผื่น ภัยเงียบ เสี่ยงอัมพฤกษ์-หัวใจวาย แนะวิธีป้องกัน

อันตรายใกล้ตัว ‘หมอธีระวัฒน์’ เตือน โรคงูสวัด ไม่ใช่แค่ผื่นคัน อันตรายกว่าที่คิด เสี่ยงปวดเรื้อรัง-หัวใจวาย ถึงขั้นอัมพฤกษ์ แนะรีบพบแพทย์ วัคซีนป้องกันได้

“งูสวัด” โรคที่หลายคนรู้จักคุ้นเคยกับอาการผื่นพุพองและปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท อาจดูเหมือนโรคผิวหนังทั่วไป แต่แท้จริงแล้วแฝงด้วยอันตรายร้ายแรงกว่าที่คิด โดย “นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมและสมอง ออกมาให้ความรู้ เน้นย้ำว่า งูสวัดไม่ใช่เรื่องตลกหรือแค่ผื่นคันน่ารำคาญ แต่คือภัยเงียบที่สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทั้งทางระบบประสาทและหลอดเลือดได้

นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า หัวใจสำคัญของการรักษาโรคงูสวัด ไม่ใช่แค่การทำให้ผื่นยุบหายไปเร็ว ๆ ด้วยยาทา ยาพอก หรือสมุนไพร แต่ต้องได้รับยาต้านไวรัสอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นชนิดรับประทานหรือชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดก็ตาม ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัส Varicella-zoster (VZV) เข้าไปทำลายปมประสาทจนเกิดอาการ ปวดปลายประสาทหลังเป็นงูสวัด (Post-Herpetic Neuralgia – PHN) เป็นอาการปวดเรื้อรังที่อาจทรมานผู้ป่วยนานหลายเดือน หลายปี หรือตลอดชีวิต

และที่อันตรายยิ่งกว่านั้น คือการป้องกันไม่ให้ไวรัสเดินทางย้อนกลับตามเส้นประสาทเข้าไปยังไขสันหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิด อัมพาต หรือลุกลามเข้าสู่สมอง ก่อให้เกิด ภาวะเส้นเลือดในสมองอักเสบและตีบตัน หรือแม้กระทั่ง ภาวะสมองอักเสบติดเชื้อ โดยตรงได้ “ไม่ว่างูสวัดขึ้นที่ใดต้องรักษาทั้งสิ้น ไม่ใช่เพื่อผื่นหายอย่างเดียวเท่านั้น”

กรณีที่งูสวัดปรากฏในตำแหน่งอันตราย ได้แก่ บริเวณใบหน้า ศีรษะ ลำคอ บ่า หรือไหล่ ไม่ว่าผู้ป่วยจะอายุเท่าไรหรือมีภูมิคุ้มกันปกติ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่ไวรัสจะลุกลามเข้าสู่สมองผ่านทางเส้นเลือด หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติอื่นนอกเหนือจากผื่น เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับ ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด (IV Acyclovir) 10 mg/kg ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นโคม่าหรือตาบอด

โรคงูสวัด เสี่ยงทิ้งภัยเงียบระยะยาว

นอกจากภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันแล้ว งูสวัดยังทิ้งภัยเงียบระยะยาวที่หลายคนคาดไม่ถึง นั่นคือ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Stroke) และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (Heart Attack) โดยความเสี่ยงนี้จะสูงขึ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และอาจยาวนานต่อไปอีกหลายปี

คุณหมอธีระวัฒน์อธิบายกลไกที่เป็นไปได้ว่า เชื้อไวรัส VZV ที่ยังอาจหลงเหลืออยู่ในร่างกาย สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในผนังหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การตีบตันของหลอดเลือดหัวใจหรือสมองได้ในที่สุด ดังนั้น หากท่านเคยเป็นงูสวัด และต่อมาเกิดอาการเจ็บหน้าอก หรืออาการคล้ายอัมพฤกษ์ อัมพาต ควรแจ้งประวัติการเป็นงูสวัดให้แพทย์ผู้รักษาทราบทุกครั้ง เพราะอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาให้ยาต้านไวรัสควบคู่ไปกับการรักษาโรคหัวใจหรือสมอง

วิธีรักษาโรคงูสวัด ป้องกันอาการป่วย แนะปรึกษาหมอก่อนฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราสามารถป้องกันโรคงูสวัดและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเหล่านี้ได้ด้วย วัคซีนป้องกันงูสวัด ซึ่งวัคซีนรุ่นใหม่ที่เป็นชนิดโปรตีนสับยูนิต มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง ต่างจากวัคซีนยุคแรกที่เป็นเชื้ออ่อนกำลัง แต่เนื่องจากเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างดี อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาข้างเคียงได้ ในบางกรณีเกิดการกระตุ้นทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำก่อนและหลังการฉีดวัคซีนเสมอ หากเกิดมีปฏิกิริยาข้างเคียงจะได้รีบรักษาได้ทัน

ภาพจาก Facebook : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button