ข่าว

พายุงวงช้าง โผล่ทะเลภูเก็ต พลังดูดอันตราย เรือเล็กเสี่ยงคว่ำ

นักท่องเที่ยว ชาวประมง อ่าวฉลอง ภูเก็ต ผวากับภาพที่เห็น เมฆตั้งเค้าทะมึน ก่อนงวงช้างทรงพลังก่อตัวสุดอลังการ ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวบันทึกภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าเกรงขาม

เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติสุดระทึกขวัญ ในพื้นที่อ่าวฉลอง อ.เมืองภูเก็ต เมื่อช่วงสายของวันนี้ 11 เม.ย. 68 หลัง พายุงวงช้าง (Waterspout) ขนาดมหึมาได้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกลางผืนทะเลเบื้องหน้า ท่ามกลางท้องฟ้าที่มืดครึ้ม

ภาพนาทีระทึกดังกล่าวถูกบันทึกไว้ได้โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เผยแพร่โดย สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กรมประชาสัมพันธ์ ทำให้เห็นมวลเมฆสีเทาดำทะมึนปกคลุมเหนือท้องทะเล ก่อนที่เมฆส่วนหนึ่งจะก่อตัวเป็นแนวดิ่ง ลดระดับลงมาเป็น “งวง” ขนาดใหญ่ หมุนคว้างด้วยความเร็วสูง แตะลงบนผิวน้ำทะเล

จากนั้นพลังมหาศาลของมันได้ สูบเอามวลน้ำทะเลให้พวยพุ่งม้วนตัวขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นภาพที่น่าตื่นตาและน่าเกรงขามอย่างยิ่ง ทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ทั้งชาวประมง ชาวบ้าน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ต่างพากันแตกตื่นกับปรากฏการณ์ที่ไม่คาดฝันนี้

พายุงวงช้างอันตรายแค่ไหน

พายุงวงช้างอันตรายแค่ไหน?

พายุงวงช้าง หรือ Waterspout ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการปะทะกันของมวลอากาศเย็นที่เคลื่อนตัวเหนือผิวน้ำทะเลที่อุ่นกว่า ก่อให้เกิดการยกตัวของอากาศชื้นอย่างรุนแรงและบิดหมุนเป็นเกลียว

แม้โดยทั่วไปจะมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุทอร์นาโดที่เกิดบนบก และมักเกิดในเขตร้อนกินเวลาไม่นานนัก แต่ภาพการก่อตัวและสูบน้ำทะเลขึ้นไปของมันก็แสดงถึงพลังของธรรมชาติที่สามารถสร้างความตื่นกลัวได้เสมอ

แม้ว่าพายุงวงช้างจะมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุทอร์นาโด แต่ก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นใกล้ชายฝั่งหรือขึ้นฝั่ง เช่น ลมในพายุงวงช้างสามารถมีความเร็วถึง 100–190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พายุงวงช้าง พัดทะเลภูเก็ต

พายุงวงช้างสามารถทำให้เรือเล็กพลิกคว่ำ หรือสร้างความเสียหายให้กับสิ่งปลูกสร้างหากขึ้นฝั่ง โดยทั่วไป พายุงวงช้างมีอายุสั้น ประมาณ 2–30 นาที และมักสลายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อขึ้นฝั่ง

ทั้งนี้ หากพบเห็นพายุงวงช้าง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณนั้น และหากอยู่ในทะเล ควรเปลี่ยนเส้นทางเรือให้ห่างจากพายุ​

ติดตามข่าวสารและคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนหรือฤดูร้อนที่มีโอกาสเกิดพายุงวงช้างมากขึ้น​

แม้พายุงวงช้างจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่การตระหนักรู้และเตรียมพร้อมรับมือสามารถช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้​

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กรมประชาสัมพันธ์

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button