สุขภาพและการแพทย์

คอคาร์บอน คืออะไร หมอเฉลยสาเหตุ สัญญาณโรคร้าย แนะแก้ที่ต้นเหตุ

นพ.ฉัตรพล ไขข้อสงสัย ‘คอคาร์บอน’ คืออะไร ไม่ใช่แค่ขี้ไคล แต่คือสัญญาณเตือนโรคร้าย เสี่ยงเบาหวาน-ดื้ออินซูลิน แนะแก้ที่ต้นเหตุ ลดน้ำหนัก-คุมอาหาร

‘คอคาร์บอน’ อาจเป็นคำที่หลายคนเคยได้ยินหรือถูกนำมาใช้พูดถึงกันอย่างขำขันในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับรอยดำคล้ำบริเวณลำคอ แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องตลกหรือแค่ปัญหาด้านความสวยงาม ล่าสุด ‘นพ.ฉัตรพล คงเฟื่องฟุ้ง’ ศัลยแพทย์ตกแต่งเฉพาะทาง อัดคลิปวิดีโอให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chatpon Kongfeangfung,MD. เตือนภัยว่าลักษณะดังกล่าวเป็นภัยเงียบ และเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่ร่างกายกำลังบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน และ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน

นพ.ฉัตรพล อธิบายว่า ภาวะคอคาร์บอน หรือ Acanthosis Nigricans เป็นลักษณะที่ผิวหนังบริเวณซอกคอ รวมถึงข้อพับต่าง ๆ เช่น รักแร้ หรือขาหนีบ มีความหนาตัวขึ้นและมีสีคล้ำดำคล้ายกับเนื้อผ้ากำมะหยี่ ในบางรายอาจพบติ่งเนื้อเล็ก ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย

นพ.ฉัตรพล คงเฟื่องฟุ้ง เตือนคอคาร์บอน เป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ
ภาพจาก Facebook : นพ.ฉัตรพล คงเฟื่องฟุ้ง ,ศัลยแพทย์พลาสติกเฉพาะทาง Chatpon Kongfeangfung,MD.

‘คอคาร์บอน’ เกิดจากสาเหตุอะไร ภัยเงียบที่หลายคนละเลย

สาเหตุหลักของภาวะนี้มักเกิดจากปัญหาภายในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่ดี ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และร่างกายต้องผลิตอินซูลินออกมามากขึ้น ภาวะนี้มักพบในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเป็น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อยู่แล้ว หรืออาจพบร่วมกับภาวะอื่น ๆ เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือภาวะคอเลสเตอรอลสูง

ภาวะคอคาร์บอน เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (แป้ง) และน้ำตาลในปริมาณมากเกินความจำเป็น ควบคู่กับการขาดการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ระดับอินซูลินในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา และกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลงจนปรากฏเป็นรอยดำคล้ำขึ้นมา

นพ.ฉัตรพล แนะนำวิธีการรักษาคอคาร์บอน
ภาพจาก Facebook : นพ.ฉัตรพล คงเฟื่องฟุ้ง ,ศัลยแพทย์พลาสติกเฉพาะทาง Chatpon Kongfeangfung,MD.

วิธีป้องกันคอคาร์บอนง่าย ๆ เริ่มต้นได้ที่ตนเอง

สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ นพ.ฉัตรพล มองว่า การรักษาที่ผิวหนังโดยตรง เช่น การทำเลเซอร์ หรือการใช้ยาทาเพื่อลดรอยดำอาจไม่ได้ส่งผลมากนัก วิธีการรักษาที่ถูกต้องคือ การจัดการที่ต้นเหตุ หมายถึง การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหารเพื่อลดแป้งและน้ำตาล, การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน

เมื่อสุขภาพภายในร่างกายได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น รอยคล้ำดำที่ผิวหนังหรือภาวะคอคาร์บอนจะจางหายไปได้เอง โดยที่ไม่ต้องใช้ยารักษาใด ๆ

ดังนั้น คอคาร์บอนจึงไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาล้อเลียนหรือมองข้ามได้ แต่มันคือสัญญาณบ่งบอกถึงอนาคตสุขภาพ หากพบเห็นลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นกับตนเองหรือคนใกล้ชิด ควรรีบรักษาและปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และเริ่มต้นปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี ก่อนที่ภัยเงียบนี้จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงขึ้นในอนาคต

นพ.ฉัตรพลเฉลยสาเหตุการเป็นคอคาร์บอน
ภาพจาก Facebook : นพ.ฉัตรพล คงเฟื่องฟุ้ง ,ศัลยแพทย์พลาสติกเฉพาะทาง Chatpon Kongfeangfung,MD.

ข้อมูลจาก Facebook : นพ.ฉัตรพล คงเฟื่องฟุ้ง ,ศัลยแพทย์พลาสติกเฉพาะทาง Chatpon Kongfeangfung,MD.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button