ข่าว

กสทช. สั่ง ทีวีทุกช่อง ต้องตัดเข้าสด “ทีวีพูล” ทันที ถ่ายทอดเหตุสำคัญ

กสทช. ปรับรูปแบบ “ทีวีพูล” ทุกสถานีต้องงดรายการประจำ ตัดเข้าแถลงการณ์ถ่ายทอดสดพร้อมกันทั่วประเทศ รายงานเหตุสำคัญระดับชาติ

กสทช. เคาะแนวทางใหม่ คุมเข้ม ทีวีพูล สั่งทีวีทุกช่องเตรียมพร้อม หลังบทเรียนการสื่อสารช่วงแผ่นดินไหวไม่ชัดเจน โดยกำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่าเมื่อใดที่ทุกสถานีต้อง ตัดสัญญาณเข้ารายการถ่ายทอดสดแถลงการณ์ หรือรายงานสถานการณ์สำคัญระดับชาติพร้อมกันทั่วประเทศทันที เพื่อสร้างความเข้าใจและแจ้งข่าวสารที่ถูกต้องตรงกันอย่างรวดเร็วที่สุด

วันนี้ (1 เม.ย.) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในที่ประชุมการแก้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยพิบัติในทุกมิติของประเทศ ได้ขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดแนวทางการประกาศสำคัญผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) และ วิทยุกระจายเสียง ภายใต้อำนาจของ กสทช.

ในที่ประชุมฯ ให้เหตุผลว่า หลังจากวันเกิดเหตุแผ่นดินไหว (28 มี.ค.) ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้บางสถานีโทรทัศน์ และวิทยุ ไม่ทราบแนวทางในการปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุสำคัญของประเทศ และบางสถานีฯ ไม่ได้ตัดสัญญาณเข้าการประกาศสำคัญของประเทศ

ภาพจาก รัฐบาลไทย

ขณะที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการแทนเลขาธิการ กสทช. รายงานสรุปผลการประชุมทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางการในการปฏิบัติการถ่ายทอดสด กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ ฉุกเฉิน หรืออื่นๆ ที่สำคัญของชาติ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี และสถานีโทรทัศน์ ช่อง NBT กรมประชาสัมพันธ์ โดยที่ประชุมสรุปข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางยึดถือปฏิบัติ ดังนี้

1. กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรง ฉุกเฉินเร่งด่วนทันที หรือเหตุอื่น ๆ ของชาติ การแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีดำเนินการ หรือดโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ให้ทุกสถานีโทรทัศน์ต้องเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดสดพร้อมกันจากสถานีแม่ข่ายทันที เมื่อมีการขึ้นเพจหน้าจอว่า “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท)”

2. กรณีเหตุภัยพิบัติ หรืออื่นใด เมื่อระดับความรุนแรงลดลง การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่สำคัญต่อเนื่องโดย “นายกรัฐมนตรี” ให้สถานีฯ เชื่อมโยงสัญญาณสดโดยพร้อมเพรียงกันเมื่อมีการขึ้นเพจว่า “นายกรัฐมนตรีแถลงการณ์” ทั้งนี้แม่ข่ายจะต้องมีการแจ้งเวลาล่วงหน้าให้สถานีต่าง ๆ ทราบก่อนไม่น้อยกว่า 10-15 นาที เว้นแต่มีเหตุความจำเป็นให้แจ้งได้โดยทันที

3. กรณีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ ความคืบหน้าการดำเนินงาน หรือเรื่องสำคัญอื่น ๆ โดย “รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานรัฐ ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ให้ถ่ายทอดสด โดยสถานีโทรทัศน์ ช่อง NBT กรมประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์อื่น ๆ สามารถเชื่อมสัญญาณหรือนำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อในรูปแบบของข่าว หรือสื่ออื่น ๆอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสม เมื่อมีการขึ้นเพจที่หน้าจอว่า “สำนักนายกรัฐมนตรี”

ทั้งนี้ การแถลงการณ์ตามข้อ 3 จะกำหนดประเด็นสำคัญในการแถลงการณ์ขึ้นก่อนในภาพรวม และกระชับประเด็นเพื่อให้ประชาชนรับรู้ได้อย่างรวดเร็วและมีระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที

กสทช. แนวทางทีวีพูล
ภาพจาก วิกิพีเดีย

ทั้งนี้ “จิรายุ” ระบุว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบแนวทางดังกล่าวของ กสทช. แล้ว พร้อมขอให้ยึดถือในการปฏิบัติในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือเรื่องอื่นใดที่มีความสำคัญของชาติที่ต้องแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button