ข่าว

อ.เจษฎ์ เฉลยแล้ว เม็ดสีน้ำตาลปนในไข่ขาว คืออะไร กินได้ไหม อย่าตื่นตระหนก

อ.เจษฎ์ ตอบข้อสงสัย เม็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลปนในไข่ขาวคืออะไร เผยสาเหตุเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก เฉลย กินแล้วอันตรายต่อร่างกายไหม

จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาสอบถามในกลุ่ม นี่ตัวอะไร โดยโพสต์ภาพเม็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลจำนวนมากเกาะกันอยู่เป็นกลุ่มปนอยู่ในเนื้อไข่ขาว พร้อมระบุแคปชั่นว่า “ต้มไข่ไก่ทานแต่แกะเปลือกออกมา มีแบบนี้อยู่ตรงไข่ขาว 1 จุดคืออะไรคะ ไม่กล้าทานต่อเลย” ทำเอาหลายคนสงสัยไปตามกัน รวมทั้งต้องการทราบว่าสิ่งนี้คืออะไร และสามารถทานได้หรือไม่

Advertisements

ล่าสุด ‘อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาคลายความสงสัยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant เคลียร์ชัดว่า สิ่งที่ปรากฏในภาพคือ Calcium Deposits หรือ ก้อนแคลเซียมที่สะสมอยู่ในไข่ มักจะเกิดจากแม่ไก่ที่มีธาตุแคลเซียมสะสมในร่างกายมากเกินส่งผลให้ไปสะสมอยู่ในไข่ด้วย

ต่อมา อ.เจษฎ์ ได้ตรวจสอบข้อมูลและพบว่า สามารถเจอก้อนแคลเซียมในเนื้อของไข่ไก่ได้เช่นกัน

อ.เจษฎา ตอบแล้ว เม็ดสีน้ำตาลปนในไข่ขาวคืออะไร
ภาพจาก Facebook : Jessada Denduangboripant

แท้จริงแล้ว ไข่ที่เพิ่งออกจากรังไข่ของไก่จะเล็กมากจนตาเปล่ามองไม่เห็น และไม่ใช่ปรสิตของไก่ แต่เม็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลที่เห็นคือ Calcium Deposits คือ ก้อนของแคลเซียม เป็นองค์ประกอบเดียวกับที่กลายมาเป็นเปลือกไข่ มีลักษณะแตกต่างกันออกไป บางครั้งก็ดูเป็นผงและขัดออกได้ แต่บางครั้งก็พบว่าแข็งเหมือนกับเปลือกไข่ ส่วนใหญ่มักจะพบอยู่บนผิวของเปลือกไข่ แต่ก็มีพบอยู่ข้างในเนื้อไข่อย่างที่เป็นประเด็นอยู่

ทั้งนี้ Calcium Deposits หรือ ก้อนของแคลเซียมจึงเป็นเหมือนกับเปลือกไข่ที่เราอาจจะพยายามเคี้ยวกลืนเข้าได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่แข็งและไม่ได้น่ากินอะไร

ภาพไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

Advertisements

สาเหตุที่เกิดก้อนแคลเซียมในไข่ไก่

สำหรับสาเหตุที่ไข่เกิดก้อนแคลเซียมนั้นมีหลายกรณี ได้แก่ แม่ไก่เกิดการตกไข่มากกว่าปกติ (Over-Ovulation) ทำให้มีไข่สองฟองเกิดขึ้นพร้อมกัน ทำให้แคลเซียมจากฟองหนึ่งไปเกาะอยู่บนเปลือกไข่อีกฟองหนึ่ง ส่งผลให้ไข่ใบแรกมีเปลือกบางหรือไม่มีเปลือกเลย ขณะที่ไข่ใบที่สองนี้ผิวเปลือกนอกที่หนาหยาบ และมีเม็ดเล็ก ๆ เกาะอยู่

อีกกรณีคือ แม่ไก่ขาดวิตามิน D3 ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้จึงเกิดภาวะขาดแคลเซียมจนเกิดอาการป่วยหรือขาดสารอาหารทำให้วางไข่ที่เปลือกบางและดูเป็นตะปุ่มตะป่ำ

นอกจากนี้โรคบางโรค เช่น หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) และโรคกล่องเสียงอักเสบติดเชื้อก็ทำให้แม่ไก่วางไข่ที่มีก้อนแคลเซียมเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยปกติแล้วไข่ไก่ประมาณ 2% จากทั้งหมดมักจะมีลักษณะที่ผิดปกติไป บางฟองก็แทบจะสังเกตไม่เห็น ในขณะที่บางฟองก็อาจจะมีลักษณะแปลกประหลาดมาก แต่ส่วนมากยังสามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย เพียงแต่รูปร่างลักษณะไม่น่ารับประทาน

ข้อมูลจาก : Jessada Denduangboripant

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button