ข่าว

1 มกราคม 2568 วันแรก 30 บาทรักษาทุกที่ เช็กวิธีใช้สิทธิที่นี่

รวมวิธีเช็กและใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวในการรับบริการ พร้อมช่องทางเช็กสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

จากกรณี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธี “Kick off 30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทย” อัปเดตความคืบหน้าโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ว่า ตอนตัวโครงการได้เดินทางมาถึงระยะที่ 4 แล้ว โดยในวันที่ 1 มกราคม 2568 จะเป็นการเปิดบริการเพิ่มอีก 31 จังหวัด ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ หลังดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของภาครัฐเป็นอย่างมาก

Advertisements

ทั้งนี้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่จะต่างกับ 30 บาทรักษาทุกโรค ด้วยการยกระดับเรื่องการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยผ่านระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ต้องขอใบส่งตัวเหมือนเคย ทำให้ประชาชนที่สิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิ สปสข. สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามระบบได้แก่ โรงพยาบาลรัฐ หรือ สถานพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนในระบบ เช่น ร้านยา คลินิกการพยาบาลฯ คลินิกเวชกรรม ฯลฯ รวมแล้วกว่า 13,004 แห่ง โดยมีวิธีเช็ก-การใช้สิทธิ์ในโครงการตามดังนี้

วิธีเช็กสิทธิ 30 บาท รักษาทุกที่ ผ่านแอปฯ ทางรัฐ

  • ลิงก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐ
  • ผู้ใช้งานระบบ IOS >> คลิก
  • ผู้ใช้งานระบบ Android >> คลิก
  • ผู้ใช้งานระบบ Appgallery >> คลิก

1. เปิดแอปฯ ทางรัฐ ทำการสมัครสมาชิกและเข้าสู่ระบบให้เรียบร้อย

2. เลือกหมวดหมู่ ‘สุขภาพ’ และเลือกบริการ ‘สิทธิการรักษาพยาบาล’

3. กดปุ่ม ‘เข้ารับบริการที่สถานพยาบาล’ และ ‘สแกน QR Code ที่สถานพยาบาล’ ที่มีสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ จากนั้นสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลได้เลย

นอกจากนี้ แอปฯ ทางรัฐยังสามารถเช็กสิทธิการรักษาพยาบาลของตนเอง ประกอบด้วย ข้อมูลสุขภาพ, ประเภทสิทธิการรักษา และสถานพยาบาลตามฐานข้อมูลจาก สปสช. ที่สามารถใช้สิทธิการรักษา

Advertisements

30 บาท รักษาทุกโรค

ขั้นตอนการใช้สิทธิ์ 30 บาท รักษาทุกที่

หลังเรากดเลือกรับสิทธิบริการตามข้างต้นเรียบร้อย ให้เราเดินทางไปที่สถานพยาบาลที่เลือกเพื่อแสดงบัตรประชาชน, บัตรประชาชนดิจิทัลในแอปพลิเคชัน ThaID, ใบขับขี่, Passport หรือเอกสารที่มีเลขประจำตัว 13 หลักพร้อมรูปถ่ายที่ยืนยันตัวตนได้อย่างใดอย่างหนึ่งในนี้กับเจ้าหน้าที่หน้างานได้เลย

ทว่าพี่น้องประชาชนมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไอ, ปวดตัว, มีไข้ทั่วไป ทางสปสช.แนะนำให้เข้าใช้บริการที่ “คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น” แทนจะดีกว่า ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนกัน เพราะจะได้ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงโรงพยาบาลในพื้นที่นั้น ๆ

ช่องทางเช็กสิทธิรักษาพยาบาล (สปสช.)

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีช่องทางการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลได้ง่าย ๆ ผ่าน 4 ช่องทาง ดังนี้

1. โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2

2. เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือคลิก https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml เลือก ‘สำหรับประชาชน’ และ ‘ตรวจสอบสิทธิ’

3. แอปพลิเคชัน ‘สปสช.’ ทั้งระบบ Android และ iOS จากนั้นเลือก ‘ตรวจสอบสิทธิตนเอง’

  • ผู้ใช้งานระบบ IOS >> คลิก
  • ผู้ใช้งานระบบ Android >> คลิก

4. ตรวจสอบสิทธิผ่าน ไลน์ สปสช. โดยสแกน QR CODE หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 โดยเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. และเลือกเมนู ‘ตรวจสอบสิทธิ’

ภาพจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

32 อาการรับยาฟรีที่ร้านยา 30 บาทรักษาทุกที่

ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถปรึกษาเภสัชกรและรับยาตามอาการได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อมีอาการดังนี้

  • เวียนศีรษะ
  • ปวดหัว
  • ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดฟัน
  • ปวดประจำเดือน
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • ตกขาว
  • แผล
  • ผื่นผิวหนัง
  • อาการทางตา
  • อาการทางหู
  • ไข้ ไอ เจ็บคอ
  • ติดเชื้อโควิด
  • น้ำมูก คัดจมูก
  • มีอาการแผลในปาก
  • ตุ่มน้ำใสที่ปาก
  • แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง
  • อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ
  • อาการจากพยาธิ
  • อาการจากหิด เหา
  • ฝี หนองที่ผิวหนัง
  • อาการชา/เหน็บชา
  • อาการนอนไม่หลับ
  • เมารถ เมาเรือ
  • เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย
  • อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่
  • เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก

สำหรับผู้ใช้สิทธิที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางออนไลน์ ได้แก่ ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 รวมทั้งเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

ภาพจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ไทม์ไลน์โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ตั้งแต่เฟส 1 จนถึง เฟส 4

  • วันที่ 7 มกราคม 2567 : รัฐบาลเริ่มต้นเดินหน้าโครงการเฟส 1 ด้วย 4 จังหวัดนำร่องได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส เปิดรับบริการทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มีทั้งหมด 5 บริการดังนี้ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีน HPV, เพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. บูรณาการขอความร่วมมือจากหน่วยงานทางสังคมสำหรับสถานชีวาภิบาลหรือการดูแลระยะสุดท้าย และเพิ่มการสื่อสารให้มากขึ้นในระดับชุมชน
  • วันที่ 1 มีนาคม 2567 : เริ่มต้นโครงการเฟส 2 ด้วยการเพิ่ม 8 จังหวัด ตามบริการข้างต้นในรายชื่อดังนี้ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา
  • วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 : เริ่มต้นเฟส 3 เพิ่มจังหวัดนำร่องจำนวน 33 จังหวัด ใน 6 เขตสุขภาพดังนี้ เขตที่ 1, 3, 4, 8, 9 และ 12 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท อุทัยธานี สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี และยะลา
  • วันที่ 27 กันยายน 2567 : นายกรัฐมนตรี มอบโล่ตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ให้กับผู้แทน 7 หน่วยบริการนวัตกรรม ฃพร้อมประกาศขยายโครงการสู่กรุงเทพมหานคร
  • วันที่ 25 ธันวาคม 2567 : นายกรัฐมนตรี ประกาศเพิ่ม 31 จังหวัดในเฟสที่ 4 ซึ่งถือว่าครบทุกพื้นที่ในประเทศไทยเรียบร้อย ก่อนกล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่พยายามทำตามนโยบายที่วางเอาไว้ได้ทันก่อนปีใหม่ 2568 ที่เป็นการมอบของขวัญให้พี่น้องประชาชนได้ใช้บริการเพื่อสุขภาพคุณภาพดีจากรัฐบาลอีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

First jobber Gen z ใหม่แกะกล่องส่งตรงจาก อักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. งานอดิเรกชอบท่องโลกออนไลน์ เล่นกับแมว เที่ยวกับครอบครัว อ่านมังงะ เล่นเกม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button