ข่าว

ครั้งแรก The Voice Pride ประกวดเฉพาะ LGBTQ+ ดราม่าเสียงแตก เท่าเทียมจริงไหม

เดอะวอยซ์ ไทยแลนด์ ประกาศจัดรายการ The Voice Pride ครั้งแรกของโลก รับเฉพาะ LGBTQ+ ฉลองความหลากหลายทางเพศ ชาวเน็ตตั้งคำถาม ต่างจากเวอร์ชันปกติยังไง ทำไมต้องแยก

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก The Voice Thailand ได้ประกาศเปิดรับสมัครผู้เข้าประกวดในรายการ เดอะวอยซ์ ไพรด์ (The Voice Pride) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลกที่รายการนี้จะจัดเวอร์ชันพิเศษสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศผ่านเสียงเพลง โดยการเปิดรับสมัครจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 25 มกราคม 2568

Advertisements

การประกาศนี้ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ชาวเน็ตต่างตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการจัดรายการแยกสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เนื่องจากในอดีตผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันในรายการเดอะวอยซ์ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งทำให้บางคนมองว่าการจัดรายการแยกเช่นนี้อาจจะเป็นการแบ่งแยกที่ไม่จำเป็น ซึ่งเพจดังอย่าง Drama-addict ได้แชร์ประเด็นดังกล่าวพร้อมระบุข้อความว่า “ของเดิม LGBT ก็สมัครได้นิ ทำไมแยกมาจัดแบบเฉพาะ LGBT หว่า”

รับสมัครเดอะวอยซศ์ แอลจีบีทีคิว
ภาพจาก TheVoiceThailand

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ รายการเดอะวอยซ์ในหลายประเทศยังคงไม่มีเวอร์ชันเฉพาะสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ และผู้เข้าประกวดทุกคนไม่ว่าจะมีเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศใด ๆ ต่างก็สามารถเข้าร่วมแข่งขันในรายการหลักได้เช่นกัน ทำให้การจัดรายการ เดอะวอยซ์ ไพรด์ ในประเทศไทยกลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการแยกรายการออกมาในลักษณะนี้

ทั้งนี้ จากกระแสวิจารณ์ของชาวเน็ตมองว่า การจัดรายการเฉพาะสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เป็นการส่งเสริมและเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้แสดงออกในเวทีใหญ่ ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า การจัดรายการแยกอาจสร้างความรู้สึกถึงการถูกกีดกันและแบ่งแยกจากรายการหลัก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการรับรู้ของสังคม

“พลักดันอยากให้คนอื่นยอมรับในlgbtq. แต่lgbtqที่จะจัดไม่ยอมรับเพศอื่น จะแยกเพื่อ ถ้ามีเวทีที่จัดให้แค่ชายกับหญิง ก็จะโดนด่าหาว่าไม่ยอมรับlgbtq”

“ปรกติก็ประกวดได้ จะแบ่งแยกทำไม”

Advertisements

“ความเท่าเทียมที่ไม่เท่าเทียม อ่อ กรรมการก็ต้อง LGBTQ มั้ย?”

“คือถ้าแข่งระบบปกติมันใช้เสียงต่างเพศยากไง แบบเสียงผู้หญิงหันมาแมนๆงี้ เสียงแมนหันมาแต่งสาว นี่แยกไปจะได้ดัดกันเต็มที่ ได้Wokeด้วย เอาให้สุด เป็นคาบาเร่ต์ไรว่ากันไป”

“โว้คค ทั้งที่เพลงมันไม่มีขอบเขตอยู่แล้วเพลงมันไม่แบ่งเพศไม่แบ่งสถานะ lgbt เขาไม่สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ทั่วไปได้เหรอครับ ?”

“คิดว่าคงทำเพื่อฉลองสมรสเท่าเทียมแหละมั้ง แล้วคิดว่ารูปแบบรายการน่าจะพิเศษขึ้น คงไม่ได้ตั้งใจจะแยกอะไรหรอก”

“เอ่อ aim มันน่าจะคือให้ LGBT เป็นที่ยอมรับในหมู่ฐานะคนทั่วไป ไม่ใช่จัดแยกเค้าออกมาจากคนทั่วไปไหม”

ดราม่าเดอะวอยซื เอลวจีบีที 1
ภาพจาก Drama-addict
ดราม่าเดอะวอยซ์ แอลจีบีที 2
ภาพจาก Drama-addict

ด้านผู้จัดรายการเดอะวอยซ์ ไทยแลนด์ ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระแสดังกล่าว การเปิดรับสมัคร เดอะวอยซ์ ไพรด์ ในวันที่ 1 มกราคม 2568 จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูว่าจะได้รับการตอบรับอย่างไรจากผู้ชมและสังคมไทย

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประกวด เดอะวอยซ์ ไพรด์ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก The Voice Thailand

คุณสมบัติผู้สมัคร

1.ผู้สมัครต้องมีอายุ 15-60 ปี (เกิดตั้งแต่ 3 พ.ค. 1 ม.ค. 2508 – 31 ม.ค. 2553)

2.ผู้สมัครต้องอยู่ในเกณฑ์ LGBTQ+

3.ไม่มีพันธะผูกพันกับสังกัด หรือ ค่ายเพลง หรือตัวแทนใด ๆ

4.ไม่จำกัดสัญชาติ แต่ต้องพูดและร้องเพลงด้วยภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว

5.ชาวต่างชาติต้องมีหลักฐานและเอกสารยืนยันการพำนักอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กติกาการออดิชั่น

1.เปิดรับสมัครออดิชั่น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เวลา 00.01 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น.โดยการส่งคลิปออดิชั่นมาที่ thevoicepride@gmail.com

2.คลิปออดิชั่น ต้องประกอบไปด้วย 2 ส่วน

2.1 แนะนำตัวพร้อมบอกเหตุผลที่อยากร่วมรายการ The Voice Pride

2.2 ร้องเพลง

3.รับสมัครทั้งแบบนักร้องเดี่ยวและนักร้องคู่

4.ร้องสดโดยไม่ใช้ Backing Track หรือสามารถใช้เครื่องดนตรีสดประกอบได้ 1 ชิ้น (โดยผู้สมัครต้องเล่นเองเท่านั้น)

5.คลิปต้องมีความยาวสุทธิไม่เกิน 2 นาที (แนะนำตัว + ร้องเพลง) และต้องเห็นใบหน้าของผู้สมัครชัดเจน

6.คลิปต้องมีขนาดไฟล์ไม่เกิน 200 mb และความละเอียดไม่เกิน 1920×1080 (Full HD)

7.อัปโหลดได้เฉพาะไฟล์นามสกุล .MP4, .AVI, .MOV, .MKV เท่านั้น

8.อัปโหลดคลิปได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น โดยจะยึดไฟล์แรกที่ส่งในการพิจารณา

9.ทุกคลิปที่ส่งมาเพื่อออดิชั่นต้องเป็นการร้องสด ไม่ใช้แบ็คกิ้งแทรคและไม่ผ่านการปรับแต่งเสียงใดๆ

10.หากพบว่าภาพและเสียงในคลิปที่ท่านส่งมา มีการดัดแปลงเกินความเป็นจริง ทางรายการขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่พิจารณาผลงานของท่านตลอดไป การตัดสินของกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

หมายเหตุ : ทางรายการขอสงวนสิทธิ์ ไม่พิจารณาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่รายการระบุไว้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง: TheVoiceThailand a

New Nidhikant

จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนสายมูเตลู และนักอ่านไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ มีความสนใจด้านข่าวการเมือง ศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น และสายดูดวงมูเตลู งานเขียนเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button