สาธิต มศว สั่งปิดโรงเรียนด่วน 15 วัน พบนักเรียนป่วยโรคไอกรน กันแพร่ระบาด
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน เพจเฟซบุ๊ก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน แจ้งข่าว ประกาศโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไอกรน
เนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจากการสอบสวนการระบาดกรณีพบผู้ป่วยโรคไอกรน ตั้งแต่วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2567 จนถึงปัจจุบัน จำนวนมากกว่า 2 รายขึ้นไป ภายในพื้นที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคไอกรนในโรงเรียน และตระหนักถึงความปลอดภัยของ บุคลากรและนักเรียนที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนศรินทรวิโรฒ ปทุมวัน จึงเห็นสมควรให้ประกาศมาตรการและแนวทางการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1. ปิดสถานศึกษา ระหว่างวันพุธที่ 13-วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
2. งดใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน ระหว่างวันพุธที่ 13-วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
3. ให้ทุกระดับชั้นจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ
4. การมอบหมายงานของอาจารย์และการปฏิบัติงานกลุ่มของนักเรียน ต้องเป็นงาน หรือกิจกรรมที่ไม่มีการมารวมกลุ่มปฏิบัติด้วยกันโดยเด็ดขาด
5. ระหว่างวันพุธที่ 13-วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ขอให้บุคลากรปฏิบัติงาน ณ สถานที่พักอาศัยของตนเอง (Work from Home) โดยพร้อมรับการติดต่อหรือสั่งการจากผู้บังคับบัญชา ในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการและสายปฏิบัติงานให้มาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำการ ตามวันและเวลาที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพร้อมรับการติดต่อราชการระหว่างเวลา 08.30-15.30 น. ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไอกรนและโรงเรียนกำหนดอย่างเคร่งครัด
6. เปิดสถานศึกษา วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 และดำเนินการ สอบกลางภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน-วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2567 ตามปกติ
ทั้งนี้ ขอให้ติดตามข่าวสารที่โรงเรียนประกาศอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ประกาศ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
(นายโชติวิทย์ ธรรมสุจิตร) ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
รู้จัก โรคไอกรน คนไม่ค่อยได้ยินชื่อ แต่ห้ามมองข้าม
ไอกรน หรือ Pertussis เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis โรคนี้อาจฟังดูไม่คุ้นหูสำหรับบางคน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไอกรนเป็นโรคที่สามารถพบได้ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หากไม่ได้รับการป้องกันหรือรักษาอย่างถูกต้อง โรคนี้สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
สาเหตุและการติดต่อ
โรคไอกรนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis เชื้อนี้แพร่กระจายผ่านทางละอองฝอยที่ปล่อยออกมาเมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม คนที่อยู่ใกล้ชิดอาจสูดละอองฝอยนี้เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ และทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
อาการของโรค
ไอกรนมีลักษณะอาการที่ค่อนข้างชัดเจนและแบ่งออกเป็น 3 ระยะหลัก ได้แก่
- ระยะเริ่มต้น (Catarrhal Stage)
ในช่วงนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายหวัดทั่วไป เช่น น้ำมูกไหล ไอแห้ง ไข้ต่ำ และอาการเจ็บคอ ระยะนี้มักกินเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ - ระยะไอรุนแรง (Paroxysmal Stage)
อาการไอจะรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะไอเป็นชุดติดกันหลายครั้ง และมักจะมีเสียงหายใจเข้าหลังไอที่คล้ายเสียงหวีด (Whooping cough) บางครั้งอาจมีอาเจียนหรือรู้สึกหมดแรงหลังไอ - ระยะฟื้นตัว (Convalescent Stage)
หลังจากผ่านระยะไอรุนแรง อาการจะค่อยๆ ลดลง แต่ผู้ป่วยยังคงมีอาการไอหลงเหลืออยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคไอกรนทำได้โดยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากจมูกหรือคอเพื่อตรวจหาเชื้อ Bordetella pertussis แพทย์อาจใช้การตรวจ PCR หรือเพาะเชื้อร่วมด้วย นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเลือดเพื่อดูภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อดังกล่าว
การรักษา
สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน การรักษามักเริ่มต้นด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ เช่น Azithromycin หรือ Erythromycin ซึ่งช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และในกรณีของเด็กเล็กหรือผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ภาวะแทรกซ้อน
โรคไอกรนหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ปอดบวม ภาวะขาดออกซิเจนที่อาจทำให้ชัก หรือแม้กระทั่งภาวะสมองอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
การป้องกัน
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคไอกรนคือการฉีดวัคซีน วัคซีนป้องกันไอกรน (DTP, DTaP หรือ Tdap) เป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดในเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน วัคซีนนี้ไม่เพียงช่วยป้องกันโรคในตัวผู้ฉีดเอง แต่ยังช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนด้วย
อ้างอิงจาก : pidst
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อัปเดต นร.หญิงม.3 โรงเรียนดังโคราช ตกตึก 7 ชั้น อาการยังโคม่า
- ไร้จิตสำนึก รถเมล์ ฝ่าไฟแดงทางม้าลาย เกือบชนเด็กนร. หน้าโรงเรียน
- เศร้า เด็กม.3 โรงเรียนดังโคราช เสียชีวิตแล้ว พบปี65 ม.2 ตกใกล้จุดเดียวกัน