‘กรมราชทัณฑ์’ แจง ผู้ต้องหาคดียาเสพติดไลฟ์สดในคุก ยอดดูเป็นแสน
กรมราชทัณฑ์ แจงกรณี ผู้ต้องหาคดียาเสพติดชาวเกาหลีใต้ไลฟ์สดในคุก ยอดดูเป็นแสน ยืนยันสถานที่ในไลฟ์มิใช่สถานที่ภายในเรือนจำ
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำนักข่าว Maeil Business Newspaper หรือแมอิล รายงานข่าวกรณีที่นายเอ (นามสมมติ) ชาวเกาหลีใต้ วัย 40 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้ลักลอบขนยาเสพติดจากไทยในช่วงเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จับกุมที่โรงแรม ในพื้นที่อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามรายงานข่าวอ้างอิงจากหัวหน้าชุดทำคดีเปิดโปงว่านาย A ได้มีการไลฟ์ผ่าน Youtube แสดงภาพตัวเองและไลฟ์จากเรือนจำโดยเบลอภาพตัวเอง หลังจากถูกจับกุมแล้ว โดยเรียกตัวเองว่า ‘คนรวยที่สุดในประเทศไทย’ รวมถึงมีภาพนั่งสูบบุหรี่ จนมีคนเข้าชมกว่าแสนคน
ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า จากข่าวกรณีที่ผู้ต้องหารายดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้ลักลอบขนยาเสพติด ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภ.หนองปรือ เข้าจับกุมตัวได้ที่โรงแรมในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นั้น
โดยผู้ต้องหา มีพฤติการณ์จัดหายาเสพติด (ไอซ์) จากประเทศไทยส่งไปยังสาธารณรัฐเกาหลี มีความเกี่ยวข้องกับ คดีเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งทางการเกาหลีตรวจยึดพัสดุระหว่างประเทศที่ส่งมาประเทศไทย พบยาไอซ์ 38.46 กรัม ซุกซ่อนมาในถุงกาแฟ-ถุงถั่ว ทางการเกาหลีขยายผลจับกุมผู้รับพัสดุ และสอบปากคำทราบว่า ผู้จัดส่งยาเสพติด คือ ผู้ต้องหาคนดังกล่าว
ทางการเกาหลีจึงรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับ และสามารถสืบทราบว่า บุคคลดังกล่าวได้หลบหนีมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จึงประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้พิจารณายกเลิกการตรวจลงตรา (วีซ่า)
จากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า บุคคลดังกล่าวอยู่เกินกำหนดระยะเวลาอนุญาต (Overstay) กรมราชทัณฑ์จึงได้เร่งให้เรือนจำในพื้นที่ดังกล่าว ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งทางเรือนจำพิเศษพัทยา ได้รายงานว่า ไม่เคยรับตัวผู้ต้องหาชาวเกาหลีใต้รายนี้เข้าควบคุมภายในเรือนจำ และภาพห้องขังที่ปรากฏภายในคลิปนั้น มิใช่สถานที่ภายในเรือนจำ และจากการตรวจสอบในระบบข้อมูลผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ไม่พบว่ามีชื่อบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ โทรศัพท์มือถือจัดเป็นสิ่งของต้องห้าม และหากพบว่ามีการนำโทรศัพท์เข้าภายในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องขังก็ตาม ถือเป็นความผิด และต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง