ข่าวการเมือง

เปิดคำถวายสัตย์ปฏิญาณ นายกฯ อุ๊งอิ๊ง นำ ครม.ชุดใหม่ เข้าเฝ้าฯ

นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร นำ ครม.ชุดใหม่ เข้าถวายสัตย์ฯ วันที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 17.00 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เผยโมเมนต์สำคัญของการเมืองไทยอีกครั้ง

หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 10) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีไปแล้ว กระทั่งวันนี้ 6 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในเวลา 17.00 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

Advertisements

“ข้าพระพุทธเจ้า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ทั้งนี้ การถวายสัตย์ปฏิญาณ ถูกระบุไว้ในข้อกฎหมาย มาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ให้การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้กล่าวปฏญาณ ต้องกล่าวยืนยันต่อองค์ผู้ใช้อำนานอธิปไตย์ คือ พระมหากษัตริย์ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ และต้องทำเบื้องหน้าพระพักตร์ เท่านั้น องค์ประกอบจึงต้องมีทั้ง ผู้ถวาย และ ผู้รับถวาย

การถวายสัตย์ปฏิญาณจึงเป็นการยืนยันความสัมพันธ์ระหว่าง “คณะรัฐมนตรี กับ พระมหากษัตริย์” ซึ่งมีบุคคล 4 ประเภท ที่ต้องถวายสัตย์ก่อนปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ 1. องคมนตรี 2. คณะรัฐมนตรี 3. ผู้พิพากษา 4. ตุลาการ

ต่างจากการ “ปฏิญาณตน” ซึ่งเป็นการสาบานตัวไม่ต้องมีผู้รับก็ได้ และเมื่อผู้รับไม่ได้อยู่ด้วย ปกติจึงใช้ถ้อยคำ หรือ ข้อความที่ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลง

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย พูดคุยกับสื่อมวลชน หลังจากได้รับพระราชทานจดหมายรับรองให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ณ สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย พูดคุยกับสื่อมวลชน หลังจากได้รับพระราชทานจดหมายรับรองให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ณ สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 (ภาพเอพี/ศักดิ์ชัย ลลิต, แฟ้มภาพ)

ข้อกฎหมายการถวายสัตย์ปฏิญาณ

เว็บไซต์หอสมุดรัฐสภา ระบุว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ หมายถึง การแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่

Advertisements

การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ และการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ ในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนก็ได้

ทั้งนี้ การถวายสัตย์ปฏิญาณมีความแตกต่างกับการปฏิญาณตน คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ในขณะที่การปฏิญาณตนเป็นการกระทำต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์หรือพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติให้มีการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไว้ในมาตรา ดังต่อไปนี้

มาตรา 13 ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

นอกจากนั้น มาตรา 161 วรรคสอง ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินไปพลางก่อนที่จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณได้ และเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ จะมีผลให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมที่อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทั้งนี้ เพื่อมิให้การถวายสัตย์ปฏิญาณทำให้เกิดความล่าช้าในการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 191 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : สำนักนายกรัฐมนตรี

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button