เช็คระดับน้ำ เจ้าพระยา หลังน้ำเหนือจ่อมาเพิ่ม “อยุธยา-อ่างทอง” เจอผลกระทบบางแห่ง
น้ำเหนือจ่อมาเพิ่ม เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันได อัตราระหว่าง 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รองรับปริมาณน้ำจากทางตอนบนและฝนที่ตกเพิ่ม 3-9 ก.ย.นี้ ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงจากปัจจุบันอีก 25-40 ซม. เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่ม บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จ.อยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนบางแห่ง
วานนี้ (4 ก.ย.) สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน น้ำเหนือจ่อมาเพิ่ม เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันได เตรียมรับน้ำเพิ่มขึ้น โดยกรมชลประทานเปิดเผยว่าจากการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบในช่วงวันที่ 3-9 ก.ย. 67 ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่าในช่วง 1-7 วันข้างหน้า แม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และลำน้ำสาขา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้น
กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของลำน้ำ พร้อมปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำที่ไหลหลากจากทางตอนบนและฝนที่ตกในพื้นที่ คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 25 – 40 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนบางแห่ง
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัด ลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ
รวมไปถึงแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไปแล้ว
ขณะเดียวกันอ้างอิงข้อมูลจากไทยพีบีเอส นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในภาคหนือเริ่มทรงตัว และมวลน้ำที่ลงมาถึงหน้าเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว เมื่อวานที่ผ่านมาได้พยายามให้มวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านเข้าระบบชลประทาน ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตกเพิ่ม 300 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อไม่ให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำกระทบมาก ตอนนี้การบริหารจัดการน้ำ ระบบชลประทานยังรองรับได้
พยายามไม่ระบายน้ำลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยามากจนเกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำ โดยปรับการระบายเป็น 1,449 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ระดับน้ำจะเริ่มสูงใน จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา
ส่วนพายุโซนร้อนยางิ จากฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวช้าๆไปทิศตะวันตก คาบสมุทรอินโดจีน และจะเข้าจีนตอนใต้ และเวียดนามตอนบนช่วง 6-7 ก.ย.นี้ นายธเนศร์ระบุแม้พายุจะเข้าไทยโดยตรง แต่ปลายพายุที่เข้้าทางเวียดนาม ทำให้ภาคเหนือตอนบน อีสานตอนบน จะมีฝนจะมาเติมในเขตลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ดังนั้นจุดที่ต้องเร่งระบายน้ำคือ แพร่ สุโขทัย ต้องเร่งระบายมีเวลา 4-5 วัน.
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- วันนี้ กทม. เจอฝน 70% กรมอุตุฯ เตือน พายุยางิ ฉบับ 3 เหนือ-อีสาน ฝนหนัก 7-8 ก.ย.นี้
- รวมธนาคาร ออกมาตรการช่วยลูกหนี้ประสบภัยน้ำท่วม ลดดอกเบี้ย-พักหนี้
- คนอยุธยาตัดพ้อ รับจบพื้นที่น้ำท่วมตลอด ร้องเร่งการเยียวยาจากภาครัฐ